มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ว่าการหัวเราะวันละนิดนั้นถือว่าเป็นผลดีต่อร่างกายและจิตใจของเรา
แต่เคยลองคิดกันเล่นๆ ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากการหัวเราะของเรานั้นมันมาจากการดมก๊าซหัวเราะ? การหัวเราะนั้นๆ จะยังเป็นผลดีกับเราอยู่ไหม?
นั่นเพราะจากงานวิจัยชิ้นไหมจากสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าการสูดดมก๊าซหัวเราะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าได้อย่างเห็นผล เป็นเวลานานถึง 1 สัปดาห์เลย
อ้างอิงจากในงานวิจัยชิ้นนี้ ในอดีตนักวิจัยเคยค้นพบแล้วว่าสูดดมก๊าซ “ไนตรัสออกไซด์” (หรือก็คือก๊าซหัวเราะ) ที่ผสมกับออกซิเจนในปริมาณ 50/50 จะสามารถทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นอย่างรวดเร็วได้
อย่างไรก็ตามการวิจัยในเวลานั้นได้ติดตามอาการของอาสาสมัครแค่ 1 วัน ซึ่งสั้นเกินไปที่จะรู้ผลระยะยาว หรือผลกระทบแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
ดังนั้นในงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงทดลองให้อาสาสมัคร 24 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
– กลุ่มที่ 1 จะสูดดมก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่มีการผสมออกซิเจนในสัดส่วน 50/50 เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง
– กลุ่มที่ 2 จะสูดดมก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่มีการผสมออกซิเจนในสัดส่วน 25/75 เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง
– และกลุ่มที่ 3 จะสูดดมยาหลอกซึ่งไม่มีก๊าซไนตรัสออกไซด์อยู่จริงๆ เลย
โดยหลังจากการทดลอง ทีมวิจัยจะจะติดตามอาการของพวกเขาเป็นเวลานาน เพื่อที่จะหาว่าผลของก๊าซหัวเราะนั้นจะหมดลงเมื่อใด และมีผลกระทบใดบางที่น่าจับตามอง
พวกเขาพบว่าการสูดดมก๊าซหัวเราะนั้น จะทำให้อาสาสมัครแทบทั้งหมดมีอาการซึมเศร้าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเป็นเวลาต่อเนื่องได้ยาวนานถึงตั้งแต่ 1-4 สัปดาห์
โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่สองเป็นต้นไปผลการสูดดมก๊าซหัวเราะจะค่อยๆ ลดลงตามปริมาณสัดส่วนไนตรัสออกไซด์ที่อาสาสมัครรับเข้าไป
ซึ่งนั่นหมายความว่าอาสาสมัครที่รับไนตรัสออกไซด์ในสัดส่วน 50/50 จะได้รับผลนานกว่าอาสาสมัครที่สูดดมไนตรัสออกไซด์ในสัดส่วน 25/50
อย่างไรก็ตามการรับไนตรัสออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูงนั้น มักจะนำมาซึ่งผลข้างเคียงอย่างการทำให้อาสาสมัครบางส่วนมีอาการข้างเคียงอย่างอาการคลื่นไส้ได้
ผิดกับการสูดดมไนตรัสออกไซด์ในสัดส่วน 25/50 ซึ่งไม่มีอาสาสมัครรายงานอาการคลื่นไส้เลยในขณะที่ รายงานของอาการข้างเคียงอื่นๆ เอง ก็น้อยกว่าสูดดมไนตรัสออกไซด์ในสัดส่วน 50/50 ถึง 4 เท่า
นั่นหมายความว่าหากไม่นับรวมเรื่องระยะเวลาของการแสดงผล การสูดดมก๊าซหัวเราะในสัดส่วน 25% จะถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก ในการลดอาการซึมเศร้า และเผลอๆ จะดีกว่าการใช้เคตามีนที่เป็นยาเสพติดด้วยซ้ำ
“หนึ่งในข้อได้เปรียบของไนตรัสออกไซด์เมื่อเทียบกับคีตามีนคือมันเป็นก๊าซระเหย ผลของอาการชาจากยาจึงลดลงอย่างรวดเร็ว มันคล้ายกับการที่คนขับรถกลับบ้านเองได้หลังจากถอนฟัน
ในขณะที่หลังการรักษาด้วยคีตามีน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาโอเค จากนั้นพวกเขาจะต้องให้คนอื่นขับรถพากลับบ้านอีก”
Charles R. Conway นักเขียนหลักของงานวิจัยระบุ
และด้วยข้อดีนี้เองมันก็ทำให้ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในอนาคตก๊าซหัวเราะอาจจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาอาการซึมเศร้าก็เป็นได้
(งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสาร Science Translational Medicine เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021)
ที่มา iflscience และ sciencemag