เชื่อว่าหลายๆ คนจะคงมีคนรู้จักที่ไม่ว่าจะทานอาหารมากแค่ไหนก็ไม่อ้วนแบบน่าอิจฉา ซึ่งไม่ว่าเมื่อไหร่ที่เราถามว่าพวกเขาต้องทำอะไรถึงจะไม่อ้วนเจ้าตัวก็จะตอบกลับมาว่า “ก็ไม่ได้ทำอะไรนะ” กันสักคนสองคน
แน่นอนว่าตามปกติ เราก็คงไม่เชื่อกันหรอกว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองรูปร่างดีกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่าในทางวิทยาศาสตร์แล้วเรามีมนุษย์บางคน ที่ต่อให้กินเยอะและไม่ได้ออกกำลังกายนักแต่ก็ไม่อ้วนอยู่จริงๆ
และความลับของพวกเขานั้นก็อยู่ที่เรื่องที่เจ้าตัวเองก็คงไม่รู้อย่างการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมเสียด้วย
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองนักวิจัยจาก ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ทำการตรวจสอบการรับมือกับความอ้วนในอาสาสมัคร 645,000 คนใน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่า
ในร่างกายมนุษย์บางคนราวๆ 1 ใน 3,000 คนนั้น จะมีการกลายพันธุ์ของยีนชื่อ GPR75 ทำให้ยีนนี้ไม่ทำงาน ซึ่งด้วยเหตุผลบางอย่าง ช่วยให้พวกเขามักจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไปถึง 5.4 กิโลกรัม และสามารถลดโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วนได้มากถึง 54% เลย
อ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science การกลายพันธุ์ของยีน GPR75 นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ส่งผลเช่นนี้แค่ในคนเท่านั้น
แต่ในกรณีที่เราตัดต่อพันธุกรรมหนูให้ยีน GPR75 ไม่ทำงาน พวกมันก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่าน้อยอื่นๆ ถึง 44% แม้ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านอกจากเรื่องการทานอาหารแล้ว พันธุกรรมเองก็ส่งผลอย่างมากกับน้ำหนักตัว และการเผาผลาญของสิ่งมีชีวิตเช่นกัน และการศึกษายีนนี้ก็อาจจะนำไปสู่ความฝันในการต่อสู้กับโรคอ้วนได้เป็นอย่างดี
“การค้นพบพลังพิเศษทางพันธุกรรม เช่นใน GPR75
ให้ความหวังในการต่อสู้กับความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลก
ที่ซับซ้อนและแพร่หลายอย่างโรคอ้วนได้อย่างดีเลย”
George D. Yancopoulos จาก
ศูนย์พันธุศาสตร์ Regeneron หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตการตัดต่อ หรือใช้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพันธุกรรม ก็อาจจะกลายเป็นเทคโนโลยีไหมในการลดความอ้วนที่ได้ผลและ (ควรจะ) ปลอดภัย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
ที่มา
www.iflscience.com/health-and-medicine/rare-mutation-provides-protective-genetic-superpower-against-obesity/
science.sciencemag.org/content/373/6550/eabf8683