มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจไม่เคยทราบกันมาก่อนว่าการวิ่งระยะไกลหรือการวิ่งมาราธอนนั้น นอกจากจะเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนสูงแล้ว มันยังเป็นกีฬาที่มีลักษณะพิเศษแปลกๆ อย่างไม่น่าเชื่ออยู่อีกข้อ
นั่นเพราะนักกีฬาประเภทนี้ด้วยเหตุผลบางอย่างจะมีโอกาส “อุจจาระราด” สูงมากๆ เมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆ
เรื่องราวแบบนี้เคยเกิดขึ้นและเป็นข่าวโด่งดังมาแล้วในช่วงปี 2016 เมื่อนักเดินเร็วระยะไกลอย่าง Yohann Diniz อุจจาระราดแต่ยังคงแข่งต่อไป และจบการแข่งในอันดับที่ 8
หรือในปี 1982 ที่นักวิ่ง Julie Moss เกิดสูญเสียการควบคุมขาและลำไส้พร้อมๆ กันจนเกิดเป็น “สุดยอดการเลอะเทอะของ ช็อกโกแลตยักษ์” (อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของเธอเอง)
อาการอุจจาระราดของนักกีฬาเดินหรือวิ่งระยะไกลเช่นนี้ ในปี 1992 ถูกยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและหลบเลี่ยงได้ยาก โดยมันได้รับชื่อว่า “Runner’s diarrhea” (อาการท้องเสียของนักวิ่ง)
ซึ่งจากการทดลองกับนักวิ่งระยะไกล 109 ราย 43% ระบุว่ามักเป็นก่อนแข่ง ในขณะที่อีก 54% ระบุว่ามักเป็นระหว่างแข่ง และมากถึง 12% รายงานว่าอาการดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นควบคุมไม่ได้
อาการ Runner’s diarrhea นั้นคาดกันว่าอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหลักๆ ที่ได้รับการยอมรับกันดูจะระบุไว้ว่า
Runner’s diarrhea น่าจะเกิดจากการที่ระหว่างวิ่ง ระบบประสาทซิมพาเทติกจะทำงานหนักขึ้น ส่งผลเกิดการกระจายการไหลเวียนของเลือดจากอวัยวะภายในบางส่วนเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำให้การขับถ่ายรวน
ซึ่งเรื่องนี้ยังอาจทำให้นักวิ่งปวดท้องหรือมีเลือดไหลออกทางทวารในบางกรณีได้เลย
นอกจากนี้เองจากการสัมภาษณ์นักวิ่งโดยตรงพวกเขายังระบุด้วยว่า มันยากที่จะควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทางทวารหนักในขณะที่พวกเขาใช้งานกล้ามเนื้อส่วนอื่น ในการวิ่งระยะยาว
และก็เป็นไปได้ว่าการกระแทกขึ้นๆ ลงๆ อย่างต่อเนื่องในขณะที่วิ่ง จะทำให้อาหารในร่างกายไหลไปอยู่ในปลายลำไส้ง่ายขึ้น แถมความเครียดที่เกิดขึ้นก่อนการแข่งขันเอง ก็น่าจะมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน
ที่มา iflscience, mentalfloss และ mcutimes