สำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาได้มีการนำสาร “เคตามีน” หรือที่เรารู้จักกันในฐานะ “ยาเค” มาใช้เป็นอีกหนึ่งในช่องทางการรักษาที่ได้ผลดีของโรคซึมเศร้า
แต่ถึงอย่างนั้นเคตามีนก็จัดว่าเป็นสารเสพติดอยู่ดี ในช่วงที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาเคตามีนเรื่อยมา เพื่อหาว่าทำไมสารดังกล่าวถึงยับยั้งโรคซึมเศร้าได้ดีนัก และจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเลียนแบบผลของมันโดยไม่ต้องใช้สารเสพติด
และความพยายามของเหล่านักวิจัยก็ดูจะประสบผลแล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองได้มีงานวิจัยซึ่งออกมาระบุว่า ที่เคตามีนสามารถยับยั้งโรคซึมเศร้าได้ดีและรวดเร็วขนาดนี้ อาจเป็นเพราะมันไปยับยั้งสารสื่อประสาทที่ชื่อ “กลูตาเมต” ก็ได้
อ้างอิงจากในงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychiatry แนวคิดที่ว่าเคตามีนยับยั้งสารสื่อประสาทบางชนิดเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยสงสัยกันมานานแล้ว
ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจว่ากลไกต่างๆ เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร นักวิจัยจึงได้ทดลองฉีดเคตามีน ในหนูตัดต่อพันธุกรรมให้มีโรคซึมเศร้า 2 ตัว
โดยหนูตัวหนึ่งจะได้รับสารเคมีบล็อกหน่วยรับความรู้สึกซึ่งควบคุมการปล่อยกลูตาเมตจากการถูกแซกแซงโดยสารอื่นๆ เพิ่มอีกขั้น
พวกเขาพบว่า หนูตัวที่ไม่ได้รับสารเคมีบล็อกหน่วยรับความรู้สึก จะมีปริมาณของกลูตาเมตในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาแค่ 30 นาทีหลังจากที่ได้รับเคตามีนเข้าไป และเริ่มแสดงอาการซึมเศร้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่หนูซึ่งถูกสารเคมีบล็อกหน่วยรับความรู้สึก แม้จะได้รับเคตามีนเข้าไปก็จะยังคงมีระดับกลูตาเมตคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าในหนูตัวนี้ เคตามีนก็ไม่ได้ช่วยลดอาการซึมเศร้าเลยด้วย
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก เพราะมันไม่เพียงแต่ให้คำตอบเราว่าเคตามีนมีผลอย่างถึงยับยั้งโรคซึมเศร้าได้เท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นด้วยว่าหากเราสามารถควบคุมระดับกลูตาเมตได้ เราก็จะสามารถควบคุมอาการซึมเศร้าได้ตามไปด้วย
และผลงานของนักวิจัยในครั้งนี้ก็อาจจะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนายาต้านโรคซึมเศร้าตัวใหม่ ที่ไม่ใช่ยาเสพติดหรือมีผลข้างเคียงอื่นๆ มาใช้แทนที่เคตามีนได้ไม่ยากเลย
ที่มา
www.nature.com/articles/s41380-021-01246-3
www.iflscience.com/health-and-medicine/ketamine-immediately-halts-depression-by-inhibiting-glutamate-release-study-finds/