ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เชื่อว่าคงมีผู้ปกครองยุคใหม่หลายคนไม่น้อยที่เริ่มกังวลว่าการนั่งอยู่หน้าจอนานๆ ของลูก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ จะทำให้เกิดผลร้ายกับตัวเด็กๆ ได้
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่าอ้างอิงจากงานวิจัยใหม่จากสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าการนั่งอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานานของเด็กๆ แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายระดับที่เราเคยกังวลกันก็ได้
การวิจัยในครั้งนี้เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลอาสาสมัครร่วมอายุ 9-10 ขวบร่วม 12,000 ราย จากหลายภูมิหลัง ระดับรายได้ครอบครัว และเชื้อชาติ
เพื่อหาว่าเวลาที่พวกเขานั่งอยู่หน้าจอ (ไม่นับร่วมการเรียนทางไกล) จะมีความเชื่อมโยงกับการนอนหลับ สุขภาพจิต พฤติกรรม และการปฏิสัมพันธ์ของตัวเด็กหรือไม่
โดยพวกเขาได้ค้นพบว่าผิดไปจากความเชื่อของหลายๆ คน การนั่งอยู่หน้าจอนานๆ (ในกรณีนี้คือ 5 ชั่วโมงขึ้นไป) ไม่ได้ทำให้เด็กมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลเลย กลับกันมันยังทำให้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนของเด็กๆ ดีขึ้นด้วยซ้ำ
เท่านั้นยังไม่พอในด้านความเชื่อเรื่องการอยู่หน้าจอนานๆ จะทำให้ผลการเรียนแย่ลงเอง ทีมวิจัยก็พบว่าการที่เด็กจะเรียนดีหรือแย่นั้น เวลาในการนั่งหน้าจอ จะส่งผลจริงๆ แค่ 2% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เหตุผลหลักเลยที่เด็กจะเรียนได้ไม่ดี
แต่ก่อนที่เราจะปล่อยเด็กๆ นั่งหน้าจอนานๆ เราคงต้องระบุไว้ที่นี้ด้วยว่า ในงานวิจัยนี้ทีมวิจัยได้พบว่า เด็กที่นั่งหน้าจอนานๆ มีแนวโน้มที่จะสมาธิสั้นและก้าวร้าวกว่าเด็กทั่วไปเล็กน้อยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่พบหลักฐานว่าการนั่งหน้าจอเป็นต้นเหตุของอาการดังกล่าว มันจึงเป็นไปได้ว่าเพราะเด็กสมาธิสั้น หรือก้าวร้าว พวกเขาจึงชอบนั่งหน้าจอนานๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือทำให้พฤติกรรมสงบลงก็ได้
ไม่ว่าจะทางไหน ในท้ายที่สุดแล้วทีมวิจัยก็สรุปการทดลองของพวกเขาว่า แม้เราจะบอกไม่ได้ว่าการที่เด็กนั่งอยู่หน้าจอนานๆ เป็นเรื่องดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่มีผลกระทบร้ายแรง อย่างที่เราคิดไว้แน่ๆ
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0256591
ที่มา
www.iflscience.com/brain/kids-and-their-computers-several-hours-a-day-of-screen-time-is-ok-study-suggests/
theconversation.com/kids-and-their-computers-several-hours-a-day-of-screen-time-is-ok-study-suggests-168022