การนอนหลับพักผ่อนและการทานอาหาร แม้จะเป็นการกระทำที่ต่างกันสุดขั้ว แต่ก็มีจุดร่วมมากกว่าที่คิด เพราะทั้งสองไม่เพียงแต่เป็นกิจวัตรที่สำคัญต่อสุขภาพเท่านั้น แต่การทำกิจกรรมเหล่านี้มากหรือน้อยเกินไปก็ล้วนแต่จะส่งผลต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น
และล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะค้นพบความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจระหว่างการพักผ่อนและการทานอาหารอีกครั้งแล้ว เมื่อในวารสาร JAMA internal medicine พวกเขาก็เพิ่งออกมาเปิดเผยการค้นพบที่ว่า
ยิ่งมนุษย์นอนพักผ่อนน้อยลงเท่าไหร่ เราก็จะมีโอกาสทานอาหารมากขึ้นเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงข้อนี้ ในการทดลองตรวจสอบผลของการขยายเวลานอนต่อการบริโภคพลังงาน ในกลุ่มผู้มีน้ำหนักเกิน
พวกเขาได้คัดเลือกอาสาสมัคร 80 คนที่มีน้ำหนักเกิน (BMI ระหว่าง 25 ถึง 30) และรายงานว่านอนน้อยกว่า 6.5 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อทำการทดลองเป็นเวลา 4 สัปดาห์
โดยในครึ่งแรกของการทดลอง อาสาสมัครจะได้ใช้ชีวิตตามปกติ (นอนน้อย) ก่อนที่จะแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกนอนน้อยตามปกติ ในขณะที่อีกกลุ่มมีเวลานอนมากขึ้น
พวกเขาพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่มีเวลานอนมากขึ้นนั้น จะมีอัตราการบริโภคแคลอรีลดลงโดยเฉลี่ยถึง 270 แคลอรี เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหรือตอนที่ตัวเองยังนอนน้อยอยู่ แม้ว่าการใช้พลังงานต่อวันจะไม่ได้เปลี่ยนไป
แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการนอนนานขึ้นจะสามารถลดการบริโภคแคลอรีที่ไม่จำเป็นได้ และหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาสาสมัครก็จะสามารถลดน้ำหนักได้โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มโดยเฉลี่ยราว 11 กิโลกรัมในเวลา 3 ปีเลย
“ตามที่เราทราบ การศึกษานี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกเลย เกี่ยวกับผลประโยชน์ของการเพิ่มเวลานอนต่อการบริโภคพลังงานและน้ำหนักตัว ในกลุ่มผู้ที่ยังคงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ้าน (ไม่ได้ไปออกกำลังกายเป็นพิเศษ)” ทีมวิจัยระบุ
แต่แม้นี่จะเป็นการค้นพบที่น่าสนใจก็ตามเราก็คงก็เตือนไว้ด้วยว่าการนอนนานเกินไปเองก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
ดังนั้นการเลือกที่จะนอนสิบกว่าชั่วโมงเพียงเพื่อจะทานอาหารน้อยลงก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเป็นแน่
ที่มา
jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/fullarticle/2788694
hitechglitz.com/more-evidence-that-people-eat-more-when-they-sleep-less/
gizmodo.com/more-evidence-that-people-eat-more-when-they-sleep-less-1848523347