มันเป็นปริศนาในทางวงการแพทย์ที่มีมาช้านาน ว่าทำไมกันผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็น “โรคอัลไซเมอร์” สูงกว่าผู้ชาย ทั้งๆ ที่โรคทางสมองเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นกับทั้งสองเพศเท่าๆ กันแท้ๆ
แต่ล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ ก็ดูจะค้นพบสิ่งที่อาจจะอยู่เบื้องหลังความแตกต่างนี้แล้วก็ได้ และคำตอบของคำถามนี้ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับ “วัยทอง” ของผู้หญิงเองด้วย
อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเอมอรี และสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature
ดูเหมือนว่าเมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัยทอง” พวกเธอจะมีปริมาณฮอร์โมนชื่อ Follicle-stimulating hormone (FSH) ที่ปกติจะทำหน้าที่กระตุ้นกระตุ้นไข่ในรังไข่ให้เติบโตจนถึงขั้นก่อนตกไข่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ นอกจากจะกระตุ้นไข่ในรังไข่แล้ว ด้วยเหตุผลบางอย่างมันยังไปเร่งการสะสมของแอมีลอย์ดพลาก (Amyloid plaques) และใยโปรตีนเทาว์ (tau) ในสมองผ่านวิถีประสาท C/EBPβ/AEP ด้วย
และทั้งสองสิ่งที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนแต่จะเป็นความผิดปกติซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ทั้งสิ้น
โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพวกเขาได้ข้อสรุปเหล่านี้ จากการทดลองฉีด FSH เข้าไปในหนูเพศผู้ และพบว่าฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้หนูมีการพัฒนาสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์อย่างชัดเจน
ดังนั้นผู้หญิงวัยทองที่มีปริมาณฮอร์โมน FSH สูงกว่าปกติจริงเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นตามไปด้วย และอาจจะเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผู้หญิงจึงมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ สูงกว่าผู้ชายไปนั่นเอง
ที่มา
www.nature.com/articles/s41586-022-04463-0
www.iflscience.com/health-and-medicine/why-women-are-more-susceptible-to-alzheimers-according-to-a-new-study/
neurosciencenews.com/alzheimers-women-20129/
www.news-medical.net/news/20220302/Study-unravels-why-women-are-more-susceptible-to-Alzheimere28099s-disease.aspx