เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะมีคนรู้จักสักคนสองคน ที่เวลาชีวิตเกิดเรื่องวุ่นวายหรือมีปัญหาทีไร ก็มักจะหาอะไรมาทานอยู่เสมอ จนหลายๆ ครั้งเราก็กลัวแทนว่าการทานอาหารแบบนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่
นี่คือลักษณะของผู้มีอาการ “Stress eating” หรือ “Emotional eating” กลุ่มอาการซึ่งผู้คนจะใช้การทานอาหาร เพื่อรับมือกับความเครียดของตัวเอง
อาการ Stress eating นั้น เป็นการตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ คาดกันว่าเกิดจากการที่ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ออกมาตอบสนองต่อความเครียด
เจ้าสารตัวนี้จะทำให้คนมีความรู้สึกตื่นตัวเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตราย โดยคนแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่างกันไป ซึ่งรวมถึงความอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีพลังงานสูงอย่างน้ำตาล ของเค็ม หรือไขมัน
แน่นอนว่าตามปกติเมื่อระดับความเครียดลดลง ระดับคอร์ติซอลก็จะกลับคืนเป็นปกติไปด้วย หลายๆ คนจึงอาจไม่ได้รับผลกระทบจาก Stress eating มากนัก
แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีคนบางกลุ่มเช่นกันที่มีระดับความเครียดในแต่ละวันสูงจนความอยากอาหารมากเกินไป และทำให้พวกเขามีพฤติกรรมการกินอาหารมากเกินไปอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็คงพอจะเดากันได้แล้วว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะลด Stress eating คงไม่พ้นการลดสาเหตุความเครียดลง แต่นี่ก็ถือเป็นอะไรที่พูดง่ายแต่ทำยาก
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำว่ามันอาจจะเป็นการดีกว่าถ้าผู้มีอาการ Stress eating จะหลีกเลี่ยงการเก็บอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูงไว้ใกล้ตัว หรืออย่างน้อยๆ ก็เปลี่ยนมันเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพแทน
นอกจากนี้การเปลี่ยนกิจกรรมที่ใช้ลดความเครียดจากการกินเป็นอย่างอื่นเอง ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เขียนบันทึก หรือแม้แต่การหางานอดิเรกเช่น ถักนิตติ้ง หรือวาดรูปเป็นต้น
ที่มา
www.healthline.com/health/healthy-eating/why-do-i-eat-when-im-stressed#reducing-stress
medium.com/illumination/the-science-behind-stress-eating-5d5bd9999993
www.medicalnewstoday.com/articles/320935
www.health.harvard.edu/staying-healthy/why-stress-causes-people-to-overeat
pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11070333/