มันเป็นสิ่งที่น่าเศร้าแต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าช่วงชีวิตการทำงานถือเป็นช่วงเวลาที่เครียด และลำบากสำหรับหลายๆ คน ผู้ใหญ่มากถึงราว 33-50% ในโลกจึงต้องประสบกับปัญหาโรคนอนไม่หลับ (และถึง 10% มีอาการแบบเรื้อรัง)
ดังนั้น นี่จึงอาจจะเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่สำหรับหลายๆ คนเลย เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ ได้ค้นพบว่า
การนอนไม่หลับบ่อยๆ ในช่วงวัยทำงานนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่คนจะมีปัญหาสุขภาพสมองในตอนแก่ได้
โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงข้อนี้จากการวิจัยความเกี่ยวข้องระหว่างสุขภาพและการนอนในช่วงเวลา 15-17 ปี ของอาสาสมัครจำนวน 3,748 ราย และพบว่า
ผู้เข้าร่วมการศึกษาซึ่งเกษียณอายุในช่วงการติดตามผล หลายๆ คนจะมีความเสี่ยงต่อภาวะที่การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง (cognitive decline) มากขึ้น หากพวกเขามีอาการโรคนอนไม่หลับในช่วงวัยกลางคน
น่าเสียดายที่การศึกษานี้ไม่ได้เจาะลึกลงไปว่าอะไรที่ทำให้การนอนไม่หลับในวัยหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในอีกวัยได้
อย่างไรก็ตามการศึกษาในอดีตก็เคยระบุไว้เช่นกันว่า ระบบกำจัดของเสียที่ทำงานในสมองสามารถได้รับกระทบจากการปรับหน่วยความจำระหว่างการนอนหลับแบบ REM ได้
การที่คนนอนหลับได้ไม่ดีจึงอาจมีแนวโน้มที่จะผลต่อการทำงานขององค์ความรู้ในระยะยาวได้จริงๆ
ทีมวิจัยจึงเชื่อว่าปัญหาการนอนไม่หลับของประชาชน อาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าที่เราเคยคิด
และการตรวจพบอาการนอนไม่หลับตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ ก็อาจจะช่วยป้องกันการเสื่อมถอยลงของสมองในหมู่ผู้สูงอายุได้
“การกระทำเหล่านี้อาจช่วยประหยัดเงินของรัฐและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพิ่มอายุขัยสุขภาพในบริบทของการก้าวสู่ช่วงสูงวัยเป็นอย่างดีเลย” ทีมวิจัยระบุ
ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีอาการนอนไม่หลับรื้อรัง การปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพของเราในอนาคตเลยนั่นเอง
ที่มา
journals.sagepub.com/doi/10.1177/08982643221078740
www.sciencealert.com/mid-life-insomnia-can-develop-into-cognitive-problems-later-in-life