มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสูบบุหรี่นั้น ถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง ถึงขนาดที่ราวๆ 80-90% ของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดนั้นล้วนแต่จะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ทั้งสิ้น
แต่สังเกตกันไหมว่าในบางครั้ง ก็มีคนบางคนที่สูบบุหรี่ทั้งชีวิตแต่ไม่เป็นมะเร็งปอด และนักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความสนใจที่จะไขปริศนาร่างกายของคนกลุ่มนี้มากเลยด้วย
อย่างล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ในสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งจะค้นพบว่า
เหล่าผู้ที่สูบบุหรี่มาทั้งชีวิตเหล่านี้ หลายคนมียีนซ่อมแซมบางตัวที่ทำงานได้ดีกว่าคนทั่วไป ทำให้เซลล์ในปอดของพวกเขาแทบจะไม่มีการกลายพันธุ์เลย แถมยังต่อกรกับเซลล์มะเร็งได้ดี
ซึ่งทั้งคู่ล้วนแต่จะทำให้โอกาสเป็นมะเร็งจากบุหรี่ของคนเหล่านี้ลดน้อยลงจากที่ควรเป็นมากๆ และหากโชคดีการศึกษายีนเหล่านี้ก็อาจจะนำไปสู่หนทางใหม่ที่จะรักษาโรคมะเร็งปอดของมนุษย์ได้เลยด้วย
“ข้อมูลของเราชี้ให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้อาจมีชีวิตอยู่ได้นานแม้จะสูบบุหรี่อย่างหนัก เพราะพวกเขาสามารถยับยั้งการสะสมของการกลายพันธุ์ได้ และความสามารถนี้ก็มาจากที่ร่างกายของพวกเขาเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมความเสียหายและล้างพิษควันบุหรี่นั่นเอง”
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคปอดคุณ Simon Spivack หนึ่งในทีมวิจัยระบุ
แต่แม้ว่านี่จะเป็นความสามารถที่น่าทึ่งก็ตาม มันก็ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีความสามารถในรูปแบบนี้ได้ และต่อให้ร่างกายป้องกันมะเร็งปอดได้ดี บุหรี่ก็ยังมีโทษอื่นๆ อีกหลายอย่างอยู่ดี
ดังนั้น การไม่สูบบุหรี่เสียตั้งแต่ต้นจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสุขภาพของเรานะ
ที่มา
www.nature.com/articles/s41588-022-01035-w#Sec2
www.sciencealert.com/we-re-closer-to-understanding-why-most-lifelong-smokers-never-get-lung-cancer