สำหรับวงการฟาร์มเลี้ยงไก่ในหลายๆ ที่ทั่วโลก มันเป็นเรื่องที่แทบจะกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ที่พวกเขาจะสังหารลูกไก่ตัวผู้ทิ้งไม่นานหลังจากที่มันฟักเป็นตัว เนื่องจากไก่เหล่านี้ไม่สามารถวางไข่ได้ และไม่เหมาะสำหรับการผลิตไก่เนื้อเท่าตัวเมีย
อย่างไรก็ตาม สำหรับเยอรมนี ธรรมเนียมการสังหารลูกไก่ตัวผู้นี้ ก็อาจกำลังจะหายไปในอนาคตอันใกล้นี้แล้วก็ได้
เพราะเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลกลางของประเทศก็เพิ่งจะผ่านร่างกฎหมาย ห้ามการคัดสังหารลูกเจี๊ยบตัวผู้ไป และจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2022 ที่จะถึงนี้
อ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ การผ่านกฎหมายในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อช่วงปี 2019 ศาลปกครองกลางของเยอรมนีได้มีคำตัดสินให้สวัสดิภาพของสัตว์มีความสำคัญมากกว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
และสั่งห้ามไม่ให้ผู้เลี้ยงสัตว์สังหารลูกไก่ตัวผู้ ยกเว้นแต่ในระยะเปลี่ยนผ่านไก่ที่เลี้ยงเท่านั้น เนื่องจากสมาชิกสภาหลายคนได้ตัดสินว่านี่เป็นการกระทำที่ “ไม่ควรเป็นที่ยอมรับทางจริยธรรม”
การตัดสินใจในครั้งนี้จะไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศเยอรมนีกลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีการออกกฎหมายห้ามการฆ่าลูกไก่จำนวนมากอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ในประเทศด้วย
นั่นเพราะในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยแล้วในเยอรมนีจะมีลูกไก่ตัวผู้สูงถึงราวๆ 43 ล้านตัวต่อปี เลยทีเดียว ที่จะถูกสังหารตามธรรมเนียมที่ผ่านมา
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ก็อาจจะไม่ได้ทำให้ลูกไก่ตัวผู้ มีโอกาสได้รอดชีวิตจนเติบโตมากขึ้นอย่างที่หลายๆ คนคิดนักเช่นกัน
นั่นเพราะในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หลายรายนั่น ยังคงสามารถหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีการตรวจเพศลูกไก่ ด้วยฮอร์โมน ตั้งแต่ที่ตัวอ่อนแทบจะยังไม่ได้พัฒนาในไข่ได้
ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถคัดเพศของลูกเจี๊ยบที่จะออกมาลืมตาดูโลกได้ ตั้งแต่ที่มันยังคงเป็นไข่อยู่เลยนั่นเอง
ที่มา iflscience และ dw