หากว่าเพื่อนๆ ยังคงจำกันได้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม สำนักข่าวได้รายงานว่า หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา กำลังเริ่มหาวิธีประหารชีวิตทดแทน หลังยาพิษที่ใช้ฉีดนักโทษขาดตลาดอย่างรุนแรง (อ่านข่าวเก่าได้ที่นี่)
ในเวลานั้น ได้มีรายงานว่าหลายๆ รัฐนั้น ได้เริ่มเปลี่ยนกลับไปใช้การประหารแบบในอดีตอย่างเก้าอี้ไฟฟ้า หรือการยิงเป้าซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงพอสมควรอยู่
แต่ล่าสุดนี้เองกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการประหารชีวิตที่ดู “รุนแรงเกินไป” ก็ได้กลับมาเป็นกระแสพูดคุยกันอีกครั้งแล้ว เมื่อในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ได้มีรายงานใหม่จากรัฐแอริโซนาซึ่งระบุว่า
พวกเขากำลังวางแผนที่จะใช้ยาชื่อ “ไซโคลน บี” (Zyklon B) ในการประหารนักโทษของตัวเอง
เรื่องราวในครั้งนี้หากฟังแค่เผินๆ อาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนยาพิษในการ ประหารธรรมดาๆ เท่านั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้วยา “ไซโคลน บี” นั้น ถือว่าเป็นยาที่มีชื่อเสียงไม่ดีสุดๆ เลยก็ว่าได้
เพราะนี่คือยาฆ่าแมลงที่มีไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในประเทศเยอรมนีในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1920
และมีชื่อที่สุดจากการที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มันเป็นยาที่ “พรรคนาซี” ใช้ในการรมแก๊ซเพื่อสังหารหมู่ชาวยิวนั่นเอง
การสังหารคนด้วยแก๊ซไซยาไนด์ในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นแอริโซนามาก่อนหน้าแล้ว เมื่อปี 1999
ในเวลานั้นนักโทษชื่อ Walter LaGrand ถูกระบุว่าต้องใช้เวลากับการทรมานอยู่ถึง 18 นาทีก่อนที่จขะสิ้นใจ ซึ่งสร้างกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะในเยอรมนี
ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ การตัดสินใจนำไซโคลน บีมาใช้ในครั้งนี้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูไม่แพ้กัน
“สำหรับผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาช์วิทซ์ โลกคงจะเหมือนแตกสลายไปโดยสิ้นเชิงเลย หาก ณ ที่ใดบนโลกใบนี้มีการพิจารณาให้ใช้ไซโคลน บีสังหารมนุษย์อีกครั้ง”
Christoph Heubner รองประธานคณะกรรมการ
เอาช์วิทซ์สากล กล่าวในการให้สัมภาษณ์
และสำหรับหลายๆ คนแล้ว การที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะนำยาพิษซึ่งแค่ชื่อก็ทำให้นึกถึงนาซีแล้วมาใช้ประหารชีวิตนักโทษเช่นนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควรเลย
ที่มา allthatsinteresting และ nytimes