ท่ามกลางขอถกเถียงที่ว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในป่าแอมะซอน กำลังทำให้ธรรมชาติของป่าฝนขนาดใหญ่นี้ทรุดโทรมลงจริงหรือไม่?
ล่าสุดมีงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ ที่ลงพื้นที่ศึกษาในผืนป่าเขตประเทศเปรู ออกมาระบุว่าจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี พบว่าชนพื้นเมืองนั้นแทบจะไม่ได้รบกวนธรรมชาติเลย
ที่สำคัญ พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด อย่างที่บางคนเข้าใจอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นมนุษย์จากภายนอกต่างหาก ที่กำลังทำให้ป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ เสื่อมโทรมลงไปได้รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ
ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาที่ชี้ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองได้ทำให้ป่าฝนแห่งนี้เสื่อมโทรมลง ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนที่ชาวยุโรปจะมาค้นพบและตั้งรกรากในอเมริกาใต้แล้ว
แต่งานวิจัยของด็อคเตอร์ Dolores Piperno ชิ้นล่าุสด กลับระบุว่า “ไม่มีหลักฐานที่ว่าป่าเคยถูกถางให้เตียน ทำฟาร์ม หรือทำลายมันจนราบ ในประวัติศาสตร์ของชนเผ่าต่างๆ”
เพื่อหาหลักฐานมาสนับสนุน นักวิจัยหญิงคนนี้ได้ใช้วิธีศึกษาตัวอย่างดิน จากเขตป่าที่ห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของเปรู โดยใช้ดินจาก 3 แหล่งที่ต่างกันในบริเวณนั้น
ข้อกำหนดก็คือ ดินจะต้องอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการไปใช้ดินที่มากับน้ำท่วม ซึ่งมักจะเกิดในบริเวณผืนป่าเป็นประจำ
จนพวกเขามั่นใจว่าจะได้นำดินที่ได้ มาสร้างภาพจำลองย้อนหลังของป่าฝนแห่งนี้ในช่วงเวลานับพันปีที่ผ่านมา ตามหลักวิชา “โบราณพฤกษศาสตร์”
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาผ่านซากดึกดำบรรพ์ของพืช ที่มีอายุนานนับพันปี
ผลการตรวจสอบอันยาวนาน ก็พบว่าตลอดระยะเวลาที่กลุ่มชนเผ่าอยู่มานานกว่า 5,000 ปีนั้น ได้สร้างผลกระทบให้กับธรรมชาติน้อยมาก จนแทบไม่ถือว่าเป็นการรบกวนธรรมชาติของผืนป่าเลย
เธอทิ้งท้ายกับสื่อต่างชาติเอาไว้ว่า “การศึกษาครั้งนี้ มีหลักฐานว่าชนเผ่านั้นอยู่แบบยั่งยืน ไม่ได้รบกวนธรรมชาติจนเกินไป และไม่ได้ทำให้สัตว์ชนิดไหนสูญพันธุ์ไปอีกด้วย”