เคยได้ยินเรื่องราวของ “โคเคนฮิปโป” กันไหม? นี่คือชื่อเรียกของฮิปโปโปเตมัสที่ “ปาโบล เอสโคบาร์” ราชาโคเคนที่ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์นำเข้ามาเลี้ยงในโคลอมเบียช่วงยุค 80
และในปัจจุบันกำลังกลายเป็นปัญหาอย่างมากต่อระบบนิเวศของประเทศเลยด้วย
ฮิปโปโปเตมัสเหล่านี้เดิมทีแล้วมีกันอยู่แค่ 4 ตัว โดยพวกมันถูกนำมาเลี้ยงในสวนสัตว์ส่วนตัวของเอสโคบาร์ ก่อนที่มันจะถูกปล่อยทิ้งไว้ในสวนสัตว์ตอนที่เอสโคบาร์เสียชีวิต และหลุดไปตามแหล่งน้ำในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าเป็นฮิปโปหลายๆ คนก็อาจจะคิดว่ามันเป็นสัตว์เชื่องๆ นิ่งๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าสัตว์ตัวนี้ถือเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าที่คิด แถมยังค่อนข้างห่วงถิ่น ถึงขนาดที่ใน แอฟริกามีคนตายเพราะฮิปโปราวๆ ปีละ 500 รายเลย
ดังนั้นในตอนที่ฮิปโปหลุดออกมาจากสวนสัตว์พวกมันจึงไม่เพียงแต่จะสามารถเอาชีวิตจรอดได้แบบสบายๆ เท่านั้น แต่ด้วยขนาดและการไม่มีศัตรูทางธรรมชาติพวกมันยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วอีก
จากที่เคยมีกันแค่ 4 ตัว ในปัจจุบันฮิปโปก็มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 40-60 ตัว ในปี 2016 และมากถึงราวๆ 80-100 ตัวแล้วในปัจจุบัน
การเพิ่มขึ้นอย่างน่าหวาดกลัวนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฮิปโปในโคลอมเบียก็อาจจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1,400 ตัวภายในปี 2039 ที่จะถึงนี้
ซึ่งถือเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่ากลัวเพราะสำหรับโคลอมเบียแล้วฮิปโปถือเป็นสัตว์รุกราน ที่อาจสร้างผลกระทบได้หลายอย่างต่อระบบนิเวศไม่ว่าจะการแย่งถิ่นที่อยู่กับสัตว์พื้นเมือง หรือการทำน้ำเสีย
และนั่นก็ทำให้ในอดีตทางรัฐมีความพยายามทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนประชากรฮิปโป แต่ถึงอย่างนั้นการดำเนินการก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ถึงขั้นที่ในหนึ่งปีพวกเขาจะทำหมันฮิปโปได้แค่ตัวเดียว
ในขณะที่จากอัตราการเพิ่มขึ้นของฮิปโปในปัจจุบันแล้ว การที่เราจะรักษาระบบนิเวศไว้ เราจะต้องลดจำนวนฮิปโปให้ได้ปีละ 30 ตัวเลย
ดังนั้นเมื่อไม่มีทางออกอื่น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่น้อยเลยจึงต้องออกมาแนะนำ ให้รัฐใช้ “มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น” ในการลดจำนวนประชากรฮิปโป เช่นการเปิดให้ล่าฮิปโปเสีย แม้วิธีการนี้จะมีโอกาสไม่มากที่จะถูกนำมาใช้จริงก็ตาม
“แน่นอนว่าพวกเราเองก็รู้สึกเสียใจกับสัตว์เหล่านี้ แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เราต้องซื่อสัตย์ต่อผลกระทบที่ออกมา
ฮิปโปเป็นสัตว์ที่รุกรานในโคลอมเบีย และหากเราไม่ฆ่าส่วนหนึ่งของพวกมันในตอนนี้ สถานการณ์อาจควบคุมไม่ได้ในเวลาเพียง 10 หรือ 20 ปีเลย”
Nataly Castelblanco
นักชีววิทยาชาวโคลอมเบีย กล่าวกับ BBC
ที่มา odditycentral, bbc