Anand Dhawaj Negi ชายวัยเกษียณจากงานราชการ ทุ่มเวลาชีวิตไปกว่า 20 ปี เพื่อเปลี่ยนผืนทะเลทรายอันหนาวเหน็บและแห้งแล้งทางตอนเหนือของอินเดีย ให้มีพื้นที่สีเขียวอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาได้
เริ่มต้นตั้งแต่ในปี 1977 รัฐบาลอินเดียได้มีโครงการสุดทะเยอทะยานที่จะบรรเทาผลเสียของการขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย ซึ่งขณะนั้นคุณตา Anand ยังคงทำงานอยู่ในส่วนงบประมาณของโครงการพัฒนาพื้นที่ทะเลทราย
เขาได้เห็นจำนวนเงินหลักล้านมหาศาลถูกละลายไปกับโครงการโดยที่ไม่มีผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ เมื่อไปถามกับนักวิทยาศาสตร์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่าทำไมมันถึงไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย
คำตอบที่ได้กลับมาก็คือยังขาดเทคโนโลยีในการพัฒนาพืชผลที่ยั่งยืนอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างทะเลทราย
ด้วยความที่เป็นลูกชาวไร่ชาวนา คุณตาเองก็เริ่มเบื่อกับคำแก้ตัว เริ่มลางานบ่อยครั้งในปี 1999 เพื่อเริ่มลงมือทำด้วยตัวของเขาเอง เมื่อเข้าสู่ปี 2003 คุณตาได้เกษียณออกจากงานราชการอย่างเต็มตัว ตั้งเป้าหมายใช้พลังทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่เพื่อทำให้ทะเลทรายกลายเป็นสีเขียวให้ได้
คุณตากลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดในพื้นที่รัฐหิมาจัลประเทศ เขาได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างกลางทะเลทรายอันหนาวเหน็บให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็น โดยเฉพาะชาวไร่ที่กำลังดิ้นรนในพื้นที่แห่งนี้ได้เห็นว่ามันสามารถทำได้จริง
มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนปอดกล้วยเข้าปาก ทำวันเดียวแล้วเห็นผลทันทีทันใด คุณตาเองรู้ดีว่าเขากำลังจะทำอะไร มีความทะเยอทะยานและความอดทนเพื่อรอเห็นผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจเอาไว้
ความพยายามในครั้งแรกเริ่มของคุณตาประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากเมล็ดที่ลงเพาะปลูกไปนั้นมีน้ำไม่เพียงพอ นั่นจึงเป็นความท้าทายอย่างแรก
คุณตาใช้วิธีปลูกพืชแนวราบ ไถพรวนที่ลาดเอียงให้ได้รับดับสม่ำเสมอ เพื่อกักเก็บน้ำฝนและลดการพังตัวของดิน อีกทั้งทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการสร้างทางน้ำตื้นที่ไหลมาจากธารน้ำแข็งที่ห่างออกไป 25 กิโลเมตร
ซึ่งหลังจากที่เริ่มมีความคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบางส่วน ทางกรมชลประทานในพื้นที่จึงเริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือและร่วมมือพัฒนาพื้นที่ ด้วยการช่วยสนับสนุนจัดหาน้ำและแหล่งน้ำให้
ทว่าเรื่องปัญหาแหล่งน้ำเป็นเพียงหนึ่งความท้าทายที่เพิ่งจะได้รับการแก้ไขไป หน้าดินแบบทรายนั้นก็ยังขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชผลที่ต้องการปลูก เพราะฉะนั้นคุณตาจึงเริ่มเลี้ยงแพะประมาณ 300 ตัว นำมูลของพวกมันไปผสมกับไส้เดือนเพื่อเพิ่มระดับไนโตรเจนในดิน
และยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วยการที่ปลูกต้นโคลเวอร์รอบๆ พื้นที่โอเอซิส มันจะย่อยสลายวนเวียนไปเรื่อยๆ เมื่อมีพืชใหม่ผุดขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับช่วยปกป้องพืชอื่นๆ จากการที่มีสัตว์ประเภทหนูมากินพืชในพื้นที่
จากการลงแรงครั้งแรกของคุณตา Anand เขาใช้เงินส่วนตัวหมดไปกับการทดสอบเทคนิคการทำไร่ทำสวนท้องถิ่นผสมผสานกับวิธีการปลูกพืชทางวิทยาศาสตร์
มันเป็นช่วงการทดลองที่ยากลำบาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป พืชที่ปลูกในทะเลทรายนั้นมีอัตราตายน้อยลงจาก 85% เหลือเพียง 1%
หลังจากพิสูจน์ได้แล้วว่าพืชมีมูลค่าอย่าง ถั่วแดง มันฝรั่ง ถั่วลันเตา แอปเปิล และแอปริคอต สามารถเติบโตได้ในสภาวะแวดล้อมแห้งแล้งอย่างทะเลทราย
คุณตาจึงเริ่มโฟกัสไปที่ต้นไม้มากขึ้น เพราะเขาพิจารณาแล้วว่าพวกมันคือส่วนสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่นี้
“สิ่งสำคัญอันดับแรกของผมคือการปลูกป่า” ด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัคร 2 คน ทำให้คุณตาสามารถปลูกป่าขึ้นมาในพื้นที่เกือบ 1 ตารางกิโลเมตรกลางทะเลทรายได้จริงอย่างที่หวังเอาไว้
เขาได้รับคำชื่นชมจากทั้งชาวบ้านท้องถิ่นและนักวิทยาศาสตร์ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาเยี่ยมชมและประจักษ์ให้เห็นกับตาว่าป่ากลางทะเลทรายผืนนี้มหัศจรรย์ขนาดไหน
แต่น่าเศร้าเพราะในท้ายที่สุดแล้ว Anand Dhawaj Negi คุณตาผู้เยียวยาทะเลทราย เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ด้วยวัย 74 ปี จากภาวะโรคหลอดเลือดในสมอง
ทว่าเขาจะถูกจดจำในฐานะฮีโร่ประจำท้องถิ่น และโอเอซิสสีเขียวกลางทะเลทรายของเขาก็จะถูกอนุรักษ์เอาไว้เพื่อเป็นตัวย้ำเตือนว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้’
ทั้งนี้ทางครอบครัวของคุณตาเองก็จะสานต่อผลงานของเขาให้สำเร็จ เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณตาตั้งเป้าเอาไว้ และจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นช่วยเป็นตัวตั้งตัวตีในการรับผิดชอบอนุรักษ์ผืนป่ากลางทะเลทรายแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป
ที่มา: downtoearth, thebetterindia