สำหรับสัตว์พื้นเมืองของทวีปออสเตรเลียอย่าง “แทสเมเนียนเดวิล” ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พวกมันต้องประสบปัญหาการลดจำนวนลงของประชากรอย่างรุนแรงจนเกือบสูญพันธุ์ จากการแพร่กระจายของมะเร็งติดต่อได้ที่เรียกว่าโรคเนื้องอกบนใบหน้าปีศาจ (DFTD)
ดังนั้นเพื่อที่จะช่วยเหลือประชากรแทสเมเนียนเดวิลให้คงอยู่ ในปี 2012 ออสเตรเลียจึงตัดสินใจนำแทสเมเนียนเดวิลที่ยังไม่ติดโรคจำนวนหนึ่ง ไปปล่อยทิ้งไว้ที่ “เกาะมาเรีย” ดินแดนขนาดเล็กทางทิศตะวันออกของแทสเมเนีย
การกระทำนี้จริงอยู่ว่าช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์ของแทสเมเนียนเดวิลเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามจากการรายงานของ Wionews ดูเหมือนว่าความพยายามในการอนุรักษ์สายพันธุ์ของสัตว์ชนิดหนึ่งของออสเตรเลีย จะกำลังทำให้สัตว์อีกชนิดของทวีปต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้นแทนเสียอย่างนั้น!!
นั่นเพราะ เกาะมาเรียที่ชาวออสเตรเลียนำแทสเมเนียนเดวิลไปอาศัยและขยายพันธุ์ไว้นั้น เดิมทีแล้วเป็นที่อยู่ของ เพนกวินอย่าง “Eudyptula minor” เพนกวินมีชื่อเสียงด้านขนาดตัวที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยความสูงเฉลี่ยแค่ราวๆ 33 เซนติเมตร
และแน่นอนว่าด้วยขนาดตัวที่เล็กขนาดนี้ พวกมันจึงถือเป็นสัตว์ที่บอบบางเป็นอย่างมาก และตกเป็นเหยื่อของแทสเมเนียนเดวิลซึ่งมาจากต่างถิ่นอย่างรวดเร็วนั่นเอง
อ้างอิงจากรายงานของคุณ Eric Woehler นักอนุรักษ์ของกลุ่ม BirdLife Tasmania จริงๆ แล้วความกังวลเรื่องแทสเมเนียนเดวิลจะทำลายระบบนิเวศของเกาะมาเรียนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2012 ที่แทสเมเนียนเดวิลถูกนำมาปล่อยแรกๆ แล้ว
ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่คิดเลยว่าแทสเมเนียนเดวิลจะกวาดล้างประชากรของนกเพนกวินตัวน้อยพวกนี้ไปมากถึงประมาณ 6,000 ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีเท่านั้น
“ทุกครั้งที่มนุษย์นำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่หมู่เกาะในมหาสมุทรไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ มันก็มักจะมีผลลัพธ์เช่นนี้เสมอ…
ผลกระทบร้ายแรงต่อนกสายพันธุ์หนึ่งหรือหลายสายพันธุ์
การสูญเสียนกเพนกวิน 3,000 คู่จากเกาะที่เป็นอุทยานแห่งชาติที่ควรเป็นที่หลบภัยของสายพันธุ์นี้
โดยพื้นฐานแล้วถือเป็นความหายนะครั้งใหญ่เลย”
คุณ Eric Woehler กล่าวกับ the Guardian
ที่สำคัญเพนกวิน Eudyptula minor ยังไม่ใช่นกเพียงสายพันธุ์เดียวที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ต่างถิ่นตัวนี้ด้วย
เพราะในการสำรวจเดียวกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า นกสายพันธุ์อื่นๆ อย่างห่าน หรือนกป่าตัวเล็กบนเกาะ ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะสร้างรังบนที่สูงกันมากขึ้น เพื่อหนีจากแทสเมเนียนเดวิลด้วย
และปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ทำให้ BirdLife Tasmania ค่อนข้างมั่นใจเลยว่ามันคงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับแทสเมเนียนเดวิลบนเกาะแห่งนี้ ก่อนที่พวกมันจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศไปยิ่งกว่าปัจจุบัน
ที่มา iflscience และ theguardian