นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมโลกออนไลน์ไปแล้ว
เมื่อในวันที่ 25 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมาทีมนักดาราศาสตร์ในประเทศชิลีได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของดาวหางขนาดใหญ่สุดๆ ดวงหนึ่งที่กำลังพุ่งเข้ามายังระบบสุริยะของเรา
เจ้าดาวหางตัวนี้มีชื่อว่า Bernardinelli-Bernstein (C/2014 UN271) ดาวหางขนาดความกว้าง 100-200 กิโลเมตร ที่เคยมีประวัติการถูกค้นพบในเมฆออร์ตที่ล้อมรอบระบบสุริยะตั้งแต่ปี 2014
แต่ที่ผ่านมามันกลับไม่เป็นที่สนใจนัก เนื่องจากในตอนแรกที่ถูกพบเราคิดว่ามันเป็นหินที่ลอยในอวกาศเฉยๆ ไม่ใช่ดาวหาง จนกระทั่งในเวลาต่อมาซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบหมอกควันของไอระเหยและฝุ่นละอองเล็ดลอดออกมาจากวัตถุที่พบ ซึ่งเป็นลักษณะของดาวหางอีกที
ดาวหางดวงนี้ในปัจจุบันอยู่ห่างจากโลกของเราออกไปราวๆ 20 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ได้ ทำให้กว่าที่มันจะโคจรมาถึงจุดที่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุดมันก็ในวันที่ 23 มกราคม ของปี 2031
โดยในวันนั้นดาวหางดวงดังกล่าวจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะทางพอๆ กับดาวเสาร์ ก่อนที่มันจะเริ่มพุ่งออกห่างจากระบบสุริยะไปอีกครั้ง และใช้เวลาราวๆ 5.5 ล้านปีในการเดินทางจนครบวงโคจรอีกที
นี่อาจจะเป็นอะไรที่ดูไกลตัวสำหรับหลายๆ คนอยู่บ้าง แต่สำหรับนักดาราศาสตร์แล้วการมาของ C/2014 UN271 นั้นถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ศึกษาดาวหางขนาดใหญ่ที่มาจากเมฆออร์ต ทุ่งเศษหินน้ำแข็งที่ล้อมรอบระบบสุริยะ และยังคงเต็มไปด้วยปริศนาเลย
“เราจะมีเวลาเกือบ 20 ปีในการศึกษาเรื่องนี้”
คุณ Peter Vereš นักดาราศาสตร์จาก
ศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด & สมิธโซเนียน ระบุ
และแม้ในปัจจุบัน C/2014 UN271 จะยังคงมีสภาพเป็นแค่จุดในกล้องของหอดูดาวเท่านั้นก็ตาม
แต่อีกไม่นานเครื่องมือที่มีความละเอียดอ่อนสูงบนกล้องโทรทรรศน์ ก็อาจจะสามารถตรวจจับความแปรผันของแสงที่มาจากดาวหาง ซึ่งสามารถเผยให้เห็นโมเลกุลที่ออกมาจากพื้นผิวของมันได้ในไม่ช้า
และข้อมูลนี้ก็จะสามารถบอกเราได้ไม่ยากเลยว่าเจ้าดาวหางยักษ์ดวงนี้ มันมีองค์ประกอบอย่างไรบ้างกันแน่
ที่มา livescience และ minorplanetcenter