สำหรับคนที่สนใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เชื่อว่าหลายคนคงอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าป่าแอมะซอน มีความสำคัญถึงขั้นถูกเรียกว่า “ปอดของโลก” แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันกลับกำลังต้องเผชิญกับเรื่องเลวร้ายหลายอย่าง จนมีพื้นที่ลดลงอย่างมาก
และล่าสุดนี้เองเราก็มีข่าวร้ายเกี่ยวกับปอดของโลกออกมาให้เห็นกันอีกครั้งแล้ว
เมื่อสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล และสถาบันการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ เหนือป่าแอมะซอนตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2018 แล้วพบว่า
ในปัจจุบันป่าแอมะซอนได้อยู่ในสภาพที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา มากกว่าที่จะดูดซับเข้าไปเสียแล้ว!!
ปัญหาในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเหตุผลใหญ่ๆ สองประการได้แก่การตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ ที่ทำให้พื้นที่ผืนป่าลดลง และเหตุไฟไหม้ซึ่งเพิ่มปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
โดยอ้างอิงจากรายงานของสถาบันทั้งสองเนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ผืนป่าของแอมะซอนได้หายไปถึง 30% ความสามารถในการกรองอากาศของป่าแห่งนี้จึงถูกควันไฟจากการเผาป่าทดแทนไปจนหมด
ส่งผลให้เมื่อเราคำนวณปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สิ่งมีชีวิตในป่าจะปล่อยออกมาตามปกติ ในปัจจุบันบางพื้นที่ของป่าที่เคยเป็นปอดของโลก โดยเฉพาะด้านตะวันออก จึงได้กลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่จะกรองมันเสียแล้ว
นี่นับว่าเป็นอีกข่าวที่น่าเศร้าเลยทีเดียวเพราะอย่างที่เราทราบกันว่าการที่จะซ่อมแซมหรือทดแทนต้นไม้ที่หายไปจากการตัดไม้ทำลายป่าหรือเพลิงไหม้นั้น มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็อาจจะยังไม่สายเกินไปเสียทีเดียวที่หลายๆ ฝ่ายจะออกมาทำอะไรสักอย่างกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก่อนที่ในสักวันหนึ่งปอดของโรคจะสูญสลายไปตลอดกาล จากการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่ามนุษย์เอง
www.iflscience.com/environment/the-amazon-rainforest-is-broken-with-parts-now-emitting-more-co2-than-it-absorbs/
research.noaa.gov/article/ArtMID/587/ArticleID/2778/Deforestation-warming-flip-part-of-Amazon-forest-from-carbon-sink-to-source
www.nature.com/articles/s41586-021-03629-6