เชื่อว่าหลายๆ คนคงทราบกันมาบ้างว่าในปัจจุบัน เราได้มีอัตราการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยครั้งการปล่อยจรวดที่ว่าก็ไม่ได้มาจากทางภาครัฐโดยตรง แต่เป็นจากบริษัทของเหล่ามหาเศรษฐีด้วย
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนาทางอวกาศได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง เราก็มีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเช่นกันที่ออกมาบอกว่า
จริงๆ แล้วการปล่อยจรวดเยอะๆ แบบในปัจจุบันนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเสียทีเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้วจรวดเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน่าตกใจเลย
อ้างอิงจากคุณ Eloise Marais ศาสตราจารย์วิชาภูมิศาสตร์กายภาพจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หนึ่งในปัญหาสำคัญของการปล่อยจรวดนั้น คือมันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาลมาก
โดยในจรวดขนส่งนักบินแค่เพียง 4 คนนั้น อาจสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 200-300 ตันเลยทีเดียว
ที่สำคัญคือต่างไปจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากรถตามปกติ คาร์บอนไดออกไซด์จากจรวดนั้น จะถูกฉีดเข้าสู่บรรยากาศชั้นบนโดยตรงและคงอยู่ที่นั่นได้นานหลายปี
และนี่ยังไม่นับรวมความจริงที่ว่าจรวดมักมีการผลิตก๊าซที่เป็นอันตรายอื่นๆ จากการเผาไหม้น้ำมันก๊าดและมีเทน ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อชั้นโอโซนได้อีก
แน่นอนว่าในการสำรวจอวกาศ โลกของเรานั้นอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อจากการปล่อยมลพิษเหล่านี้ อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรากลับเริ่มที่จะมีการปล่อยจรวดทางพาณิชย์มากขึ้น
ปัญหามลภาวะจากยานอวกาศจึงกลายเป็นอะไรที่นาจับตามองขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และแม้ว่าในหนึ่งปีเราจะมียานอวกาศพยายามขึ้นสู่อวกาศแค่ร้อยลำกว่าลำเท่านั้น แต่คุณ Marais ก็มองว่านี่อาจจะถึงเวลาแล้วก็ได้ที่เราจะต้องวางมาตราการจำกัดมลภาวะจากจรวดเหล่านี้เสียที
“ขณะนี้เรายังไม่มีข้อบังคับใดๆ เลย เกี่ยวกับการปล่อยมลภาวะจรวด นี่จึงอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ในขณะที่เหล่ามหาเศรษฐียังคงแค่ซื้อตั๋วไปอวกาศอยู่เท่านั้น”
ที่มา
www.theguardian.com/science/2021/jul/19/billionaires-space-tourism-environment-emissions
futurism.com/the-byte/rocket-launches-bad-environment