หลังจากที่นักธนูหญิงชาวเกาหลีใต้วัย 20 ปี สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกได้สำเร็จ เธอก็ตกเป็นเป้าถูกโจมตีจากโลกออนไลน์โดยเฉพาะเหล่าชาวเน็ตชาย มุ่งเป้าไปที่ประเด็นการไว้ผมสั้นของเธอ
คนเหล่านี้เรียกร้องให้ อัน ซาน (An San) ออกมาขอโทษและถอดชื่อออกจากทีมแข่งโอลิมปิก ด้วยเหตุผลที่ว่าทรงผมสั้นของเธอมีความเป็นเฟมินิสต์
ชาวเน็ตเข้าไปถล่มสมาคมยิงธนูเกาหลีด้วยข้อเรียกร้องให้ อัน ซาน คืนเหรียญทอง พากันไปถล่มตามโซเชียลส่วนตัวของเธอด้วยถ้อยคำเกลียดชัง
นอกจากนี้ ยังมีการขุดคุ้ยนำเรื่องในอดีต ที่เธอเคยใช้คำสแลงบางคำ ที่กลุ่มแอนตี้เฟมินิสต์มองว่าเป็นคำต่อต้านและดูถูกผู้ชายอีกด้วย
ผลงานล่าสุด
อัน ซาน เป็นตัวแทนทีมชาติเกาหลีใต้พิชิตเหรียญทองได้ 2 เหรียญ จากรายการยิงธนูทีมหญิงและทีมผสม เธอทำแต้มได้ 680 แต้มจาก 720 แต้ม ถือเป็นการทำแต้มสูงที่สุดในรอบ 25 ปีของกีฬาโอลิมปิกรอบคัดเลือกประเภทหญิงเดี่ยว
สำหรับสถิติสูงสุดที่ผ่านมาเกิดขึ้นในปี 1996 โดยนักธนูชาวยูเครน Lina Herasimenko ทำแต้มไว้ที่ 673 แต้ม
เหล่าผู้หญิงและนักนิติบัญญัติเกาหลีใต้ให้กำลังใจ อัน ซาน
จากประเด็นข้างต้น ทำให้เหล่าผู้หญิงและนักนิติบัญญัติออกมาแสดงจุดยืนข้าง อัน ซาน ร่วมกันประณามการถูกโจมตีในครั้งนี้
이렇기 때문에 능력만이 문제가 아니라 차별의 구조를 바꿔야 한다고 주장하는 겁니다.
기껏 한국 양궁을 세계 최강으로 만들어놓았더니 성차별로 국격을 이렇게 땅바닥에 내팽개치는 기이한 오늘을 우리는 마주하고 있습니다.— 장혜영 (@janghyeyeong) July 29, 2021
จัง ฮเย-ยัง นักการเมืองทวีตเอาไว้ว่า “แม้คุณจะชนะเหรียญทองโอลิมปิกมาด้วยความสามารถของตัวเอง ตราบใดที่การเหยียดเพศยังคงอยู่ในสังคม คุณจะโดนสบประมาทและถูกริดรอนคุณค่าเหรียญทองเพียงเพราะคุณมีผมสั้น”
เธอเสริมว่าแม้เกาหลีใต้จะขึ้นชื่อเรื่องการยิงธนูเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกียรติภูมิของประเทศกลับถูกกลบด้วยการเหยียดเพศที่มีอยู่ในสังคม
วู วอน-ชิก ก็เป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่วิจารณ์การกระทำดังกล่าวของชาวเน็ต เปรียบเท่ากับอาชญากรรมความเกลียดชัง
“การกำหนดความคิดฝ่ายเดียว (ของบุคคลอื่น) พิจารณาจากรูปลักษณ์หรือที่มา (ของเขาหรือเธอ) และมุ่งเป้าไปที่ความคิดบางอย่างสำหรับการวิจารณ์ตามอำเภอใจ ถือเป็นความสุดโต่งของความไร้สติ เทียบเท่ากับอาชญากรรมที่สร้างความเกลียดชัง”
ในขณะเดียวกัน บนพื้นที่ออนไลน์ของสมาคมยิงธนูเกาหลีก็มีคนจำนวนมากเข้าไปโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ทางสมาคมออกมาปกป้องนักกีฬาของตัวเองด้วย
อะไรเป็นต้นเหตุของความเกลียดเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ล่ะ?
จากการรายงานของรอยเตอร์ส ระบุว่า นโยบายสาธารณะที่เน้นหนักไปทางเรื่องสิทธิสตรีได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในเกาหลีใต้
สำนักข่าวเอเอฟพีเสริมว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมาจากการผลักดันเรื่องทำแท้งถูกกฎหมาย รณรงค์เอาผิดกับการตั้งกล้องแอบถ่ายตามที่สาธารณะ ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิสตรีในเกาหลีใต้ครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ก็เกิดกระแสตีกลับภายในประเทศเช่นกัน เนื่องจากภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ถูกมองว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัวและมีอคติต่อเพศชาย