มันเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยภาวะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของโลก ในปัจจุบันเราจึงกำลังอยู่ในช่วงที่ก้อนน้ำแข็งในสถานที่สำคัญหลายแหล่งของโลกกำลังค่อยๆ ละลายหายไป
เรื่องราวเช่นนี้ แม้มองเผินๆ อาจจะเป็นอะไรที่ดูธรรมดาและห่างไกลตัวสำหรับหลายๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะเป็นอะไรที่อันตรายได้มากกว่าที่เราคิดเลย
นั่นเพราะล่าสุดนี้เองใน วารสาร Microbiome เราก็เพิ่งมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาประกาศว่า พวกเขาได้ค้นพบไวรัสโบราณอายุกว่า 15,000 ปี หลายสายพันธุ์ ฝังตัวอยู่ในธารน้ำแข็งทิเบตนั่นเอง
การค้นพบในครั้งนี้ เป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ซึ่งได้ทำการสำรวจก้อนน้ำแข็งที่ขุดขึ้นมาจากครอบน้ำแข็งกูลิยาบนที่ราบสูงทิเบตทางตะวันตกของจีนเมื่อปี 2015
พวกเขาได้ค้นพบยีนของไวรัสทั้งหมด 33 ชนิด จากตัวอย่างแกนน้ำแข็ง 2 ชิ้น โดยในจำนวนนี้ มากถึง 28 ชนิดเป็นไวรัสที่ไม่เคยพบมาก่อน และกว่าครึ่งหนึ่งของไวรัสที่เห็นนี้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่เสียด้วย
“การละลายของน้ำแข็งนั้นไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การสูญเสียจุลินทรีย์และไวรัสในสมัยโบราณเท่านั้น
แต่มันยังอาจจะปล่อยพวกมันออกสู่สิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ด้วย”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอระบุ
นับว่าเป็นโชคดีมากที่ไวรัสที่ถูกพบนั้นโดยมากแล้วน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากในดินหรือพืชมากกว่าจะมาจากสัตว์ดังนั้นมันจึงไม่น่าจะสร้างอันตรายใดๆ กับมนุษย์
ถึงอย่างนั้นก็ตามนี่ก็ถือว่าเป็นงานวิจัยที่แสดงให้เห็นอีกผลกระทบที่น่าจับตามองของภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
และการวิจัยในครั้งนี้เองก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษาอัตราการวิวัฒนาการของไวรัสในอดีต ซึ่งอาจมีผลดีต่อการรับมือกับไวรัสหรือช่วยตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไปได้เลย
ที่มา sciencedaily, smithsonianmag, sciencealert และ phys