นับว่าเป็นอีกหนึ่งรายงานที่ค่อนข้างน่าสนใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19ในต่างประเทศเลยทีเดียว เมื่อในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ตีพิมพ์งานวิจัยก่อนการพิชญพิจารณ์อย่าง BioRxiv ได้มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่มีเนื้อหาสำคัญว่า
อาจมี “กวางหางขาวป่า” มากถึง 40% ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีร่องรอยแอนติบอดี ของโรคโควิด-19 อยู่ในตัว
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจแอนติบอดีเบื้องต้นของหน่วยงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืชของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA-APHIS)
โดยพวกเขาได้ตรวจสอบตัวอย่างเซรั่ม 624 ชิ้นซึ่งเก็บมาจากกวางในหลายรัฐทั้งช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด และพบว่ามีตัวอย่างราวๆ 152 ชิ้นจากกวางหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด (คิดเป็นราวๆ 40%) ซึ่งมีแอนติบอดีต่อโรคร้ายนี้อยู่
แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีกวางเคยได้รับไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปจริงๆ เพราะแม้การทดสอบบางส่วนอาจจะคลาดเคลื่อนได้ แต่มันคงยากที่ผลตรวจจะออกมาผิดหมดทั้ง 40%
โชคดีมากที่จากข้อมูลของ USDA-APHIS ดูเหมือนว่ากวางที่พวกเขาตรวจสอบนั้น แม้จะเคยได้รับ ไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไป พวกมันก็ดูจะไม่ได้เจ็บป่วยอะไรนัก
แต่ถึงอย่างนั้น นี่ก็ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรก สำหรับการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 ในสัตว์ป่าที่อาจเกิดจากการแพร่เชื้อจากคนสู่สัตว์เลย
มันจึงน่าเสียดายมากที่ด้วยข้อมูลในปัจจุบันทางนักวิจัยดูจะยังไม่ฟันธงได้ว่ากวางเหล่านี้ทำไมจู่ๆ ถึงติดโรคโควิดไปได้ และทำได้เพียงคาดเดาว่ากวางที่เห็นอาจจะติดโรคนี้จาก มนุษย์ที่มีส่วนร่วมในการล่าสัตว์ การวิจัยภาคสนาม งานอนุรักษ์ หรือการท่องเที่ยวสัตว์ป่า
แต่ถึงแม้นี่อาจจะเป็นข่าวที่อาจจะฟังดูน่ากลัวก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ระบุไว้ด้วยว่า กวางนั้นไม่ใช่สัตว์ชนิดแรกที่ติดโควิดไปจากมนุษย์แต่อย่างไร
เพราะในอดีตทั้งสุนัขและแมวก็มีการรายการติดโรคนี้ไปแล้ว และสัตว์ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ไม่มีรายงานว่าสามารถนำไวรัสนี้กลับมาติดคนด้วย
“ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจาย SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 สู่คน
ดังนั้นความเสี่ยงที่สัตว์อย่างกวางจะแพร่กระจายโควิด-19 สู่คนจึงยังถือว่ามีน้อยมากอยู่”
USDA-APHIS ระบุในรายงาน
ที่มา iflscience, smithsonianmag และ biorxiv