ย้อนกลับไปเล็กน้อยในปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดกว้างพอๆ กับภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งกำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 94,208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และจากการคำนวณวงโคจรขององค์การนาซา ดาวเคราะห์น้อยลูกดังกล่าวก็บังเอิญมีวงโคจรที่จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในค่ำคืนนี้ (21 สิงหาคม 2021) เสียด้วย
ดาวเคราะห์น้อยลูกที่ว่านี้มีชื่อว่า “2016 AJ193” หินอวกาศที่ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS ที่หอดูดาวในฮาวาย ก่อนที่ต่อมามันจะถูกระบุว่าเป็น “ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง” (Potentially Hazardous Asteroid)
ซึ่งใช้เรียกดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลกกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (ราวๆ 19.5 เท่าของระยะทางระหว่างโลกถึงดวงจันทร์)
โดย 2016 AJ193 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีจุดเด่นไม่เพียงแต่ใหญ่โตถึงราวๆ ขนาด 1.4 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง 99% ที่โลกเคยพบเท่านั้น
แต่มันยังแทบจะไม่สะท้อนแสงทำให้สังเกตได้ยากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมที่ผ่านมาเราถึงไม่เคยหามันเจอ ทั้งๆ ที่ดาวเคราะห์น้อยลูกดังกล่าวจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 5.9 ปี
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อนักดาราศาสตร์ทราบว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในช่วง 4 ทุ่ม ของวันที่ 21 สิงหาคม 2021 (ตามเวลาในประเทศไทย) ด้วยระยะห่างเพียง 3.4 ล้านกิโลเมตร (หรือ 8.9 เท่าของระยะห่างโลกไปดวงจันทร์)
สิ่งที่พวกเขาคิดจึงไม่ใช่ความเสี่ยงที่มันจะชนโลก (ที่แทบจะไม่มีอยู่แล้ว) แต่เป็นการที่เราจะได้ศึกษาหินดังกล่าวแบบเต็มที่เสียที เพราะในช่วงเวลานี้ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะสว่างขึ้นกว่าที่เคยเป็นถึงราวๆ 14 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่หายากมากๆ
และหากเราพลาดโอกาสนี้ไป กว่าที่ 2016 AJ193 จะกลับมาให้เราเห็นใกล้ๆ แบบนี้อีกครั้ง มันก็ในปี 2080 เลยทีเดียว
ที่มา
ssd.jpl.nasa.gov/sbdb.cgi?sstr=2016%20AJ193&orb=1
pragativadi.com/2016-aj193-asteroid-speeding-at-94000-kmph-to-pass-by-earth-today-nasa-classifies-it-potentially-hazardous/
www.iflscience.com/space/asteroid-as-large-as-a-mountain-will-fly-near-earth-this-weekend/