นับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วัคซีน mRNA ก็กลายเป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ทราบกันหรือไม่ว่าวัคซีน mRNA นั้นจริงๆแล้ว มันยังถูกนำไปพัฒนาเพื่อรักษาโรคอีกหลายต่อหลายโรค ซึ่งน่าติดตามไม่แพ้กันเลย
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองบริษัท BioNTech เจ้าของร่วมของผลงานวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ก็เพิ่งจะออกมาประกาศว่า
พวกเขากำลังจะนำ วัคซีน mRNA บำบัดมะเร็งเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์แล้ว หลังจากที่วัคซีน ดังกล่าวสามารถรักษาอาการมะเร็งลำไส้และมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาในหนูได้
โดยการรายงานในครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในเว็บไซต์ FierceBiotech เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา หลังทีมนักวิจัยของ BioNTech ได้ทดลองสร้างวัคซีน mRNA ตัวใหม่
ซึ่งมีผลสามารถกระตุ้นเซลล์ผลิตโมเลกุลต้านมะเร็งกลุ่มไซโตไคน์ (cytokines) สี่ตัว อันเป็นที่รู้จักกันในฐานะโมเลกุลช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง
ภายในหนูทดลอง 20 ตัว และพบว่า ในหนูมากถึง 17 ตัว วัคซีนดังกล่าวจะไม่เพียงป้องกันการเติบโตขึ้นของเนื้องอกเท่านั้น แต่จะลดขนาดของเนื้องอกมะเร็งลงในระดับที่พูดได้ว่าสมบูรณ์แบบเลยด้วย
นี่นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจมากเพราะ ตามปกติไซโตไคน์ที่กล่าวถึงด้านบนนั้น จะมีระยะครึ่งชีวิตที่สั้นทำให้ยากต่อการดูแล และการฉีดไซโตไคน์เข้าไปในผู้ป่วยโดยตรงก็อาจจะทำให้เกิดการเป็นพิษได้
ดังนั้นการที่เราสามารถกระตุ้นให้ร่างกายปรับตัวภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติด้วย mRNA จึงถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการใช้ไซโตไคน์โดยตรงตามปกติมาก
ด้วยเหตุนี้เองทาง BioNTech จึงได้ตัดสินใจเปิดตัวการทดลองยาขั้นที่ 1 เพื่อศึกษาพบของยาดังกล่าวในมนุษย์ต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ก็เช่นเดียวกับผลการทดลองในหนูอื่นๆ การทดลองในครั้งนี้ใช่ว่าจะส่งผลแบบเดียวกันในคนแต่อย่างไร ดังนั้นเรื่องที่ว่ายาดังกล่าวจะใช้กับคนได้หรือไม่นั้น เราก็คงจะยังต้องติดตามกันต่อไปก่อนนั่นเอง
ที่มา