ย้อนกลับไปในช่วงปี 2010 ที่คาบสมุทรกัลฟ์ของสหรัฐอเมริกาได้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon เกิดการระเบิดนำไปสู่การรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
แน่นอนว่าการรั่วของน้ำมันในระดับนี้ ในเวลานั้นย่อมต้องส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นธรรมดา แต่ใครจะไปคิดกันว่าต่อให้เวลาผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว ผลกระทบของเหตุน้ำมันรั่วในตอนนั้น ก็จะยังส่งผลกับสัตว์น้ำในพื้นที่อยู่
ผลกระทบที่ว่านี้ถูกค้นพบโดยทีมวิจัยของ สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้ออกสำรวจ ผลกระทบระยะยาวจากภัยพิบัติ Deep Water Horizon ต่อสุขภาพทางนิเวศวิทยาของภูมิภาค
โดยพวกเขาพบว่า สัตว์น้ำอย่างหอยนางรมในพื้นที่ภัยพิบัตินั้นก็ยังคงมีอัตราการเกิดกระบวนการ “เมตาเพลเซีย” ซึ่งทำให้เซลล์เนื้อเยื่อของพวกมันเกิดความผิดปกติสูงกว่า หอยนางรมในพื้นที่อื่นๆ มาก
แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าแม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษก็ตามแต่ผลของน้ำมันรั่วในอดีตนั้นก็ยังคงส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ศาสตราจารย์ Deanne Roopnarine หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า
“ความแตกต่างที่เราพบระหว่างหอยนางรมสองที่เป็นอะไรที่น่าเศร้ามาก
หอยนางรมที่มาจากอ่าวเชซาพีก จะมีขนเหงือกที่สวยงาม ซึ่งพวกมันใช้ในการกรองเศษอาหาร ในขณะที่หอยนางรมจากคาบสมุทรกัลฟ์แทบไม่มีขนเหงือกเลย
เห็นแล้วได้แต่สงสัยจริงๆ ว่าสัตว์เหล่านี้ ยังคงหากินและมีชีวิตได้อย่างไร?”
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่าไม่ได้มีผลกระทบแค่กับระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังอาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไม่น่าเชื่อด้วย เพราะหลายภูมิภาคของสหรัฐฯ นั้นพึ่งพาหอยนางรมเป็นแหล่งรายได้
ดังนั้นการศึกษานี้จึงถือเป็นเครื่องเตือนใจถึงผลกระทบร้ายแรงแถมยาวนานของการขุดเจาะน้ำมัน ต่อมหาสมุทรได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ มักจะบอกว่าพวกเขา “ทำความสะอาด” การรั่วไหลแล้วก็ตาม
ผลกระทบจากการรั่วไหลที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่อะไรที่เราสามารถป้องกันได้เพียงแค่ด้วยการทำความสะอาดที่ว่าเลย
ที่มา
journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0247739
futurism.com/the-byte/tissue-deformities-seafood-deepwater-horizon