เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำว่า “หลุมโอโซน” กันมาบ้าง นี่คือปรากฏการณ์ช่องว่างที่เกิดขึ้นในชั้นโอโซนอันเป็นชั้นบรรยากาศโลกที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์มากที่สุด
โดยหลุมดังกล่าวนี้พบได้ทุกปีที่บริเวณขั้วโลกทั้งสอง และที่ขั้วโลกใต้หลุมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้พอดีเลยด้วย
ปัญหาคือในการตรวจสอบหลุมดังกล่าวในครั้งล่าสุดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ขนาดของหลุมโอโซนในปีนี้ด้วยเหตุผลบางอย่างมันใหญ่เอามากๆ ใหญ่เสียยิ่งกว่าขนาดของทวีปแอนตาร์กติกาเองเสียอีก
อ้างอิงจากรายงานของนักวิจัยจาก Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) หลุมโอโซนในปีนี้เติบโตอย่างรวดเร็วและมี ขนาดใหญ่กว่า 75% ของหลุมโอโซนที่เราเคยพบมาทั้งหมดตั้งแต่ปี 1979
โดยเช่นเดียวกับหลุมโอโซนครั้งที่ผ่านๆ มาหลุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยาเคมีกับสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ฟรีออน) ที่มนุษย์สร้างขึ้น
ดังนั้นการที่จู่ๆ หลุมดังกล่าวก็ใหญ่ขึ้นเช่นนี้ จึงอาจจะถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก และทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องจับตามองหลุมดังกล่าวกันอย่างใกล้ชิดเลย
“การที่หลุมโอโซนมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กในหนึ่งปีไม่ได้หมายความว่ากระบวนการฟื้นตัวของชั้นโอโซนจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่าเราจำเป็นต้องให้ความสนใจมันเป็นพิเศษอยู่ดี”
Vincent-Henri Peuch ผู้อำนวยการ ของ CAMS ระบุ
นับว่ายังเป็นโชคดีที่ ตามปกติแล้วหลุมโอโซนของแอนตาร์กติกมักจะขยายขนาดจนถึงจุดใหญ่สุดในช่วงระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม ก่อนที่การทำลายโอโซนจะช้าลงและระดับโอโซนมักจะกลับมาเป็นปกติในเดือนธันวาคม
ดังนั้นหลุมโอโซนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเอง แม้ว่าจะใหญ่กว่าปกติอยู่บ้างแต่ก็น่าจะหายไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเช่นกัน
ที่มา
www.iflscience.com/environment/ozone-layer-hole-is-bigger-than-antarctica-this-year/