เชื่อว่าด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างในปัจจุบันคงมีหลายๆ คนไม่น้อยที่ในช่วงนี้กำลัง ทำงาน (หรือเรียน) จากที่บ้านกัน ซึ่งมันก็คงทำให้หลายคนคุ้นชินกับการพบปะแบบออนไลน์กันมากขึ้นไม่ว่าจะในการเรียนหรือการประชุม
ซึ่งหากเราสังเกตกัน การพบปะในรูปแบบนี้ บ่อยครั้งแล้วก็มักจะมีการบังคับให้ผู้เข้าร่วมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมกำลังสนใจการประชุมจริงๆ อยู่ไหม
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วการเปิดกล้องคุยกันอาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีต่อการประชุมเสมอไปก็ได้
นั่นเพราะอ้างอิงจากนักวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยแอริโซนาเอลเลอร์ดูเหมือนว่าการปิดกล้องในการประชุมพบปะแบบออนไลน์นั้น แท้จริงแล้วอาจจะทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพกว่าการเปิดกล้องคุยกันก็ได้
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างการวิจัยติดตามอาสาสมัครจำนวน 103 รายซึ่งทำงานจากบ้านเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยในระหว่างนี้ทีมงานจะทำการบันทึกหน้าจอของอาสาสมัครเพื่อดูปฏิกิริยาของแต่ละคนในระหว่างการประชุม
โดยพวกเขาพบว่าในระหว่างประชุมออนไลน์ อาสาสมัครที่เปิดกล้องจะมีระดับการแสดงส่วนร่วมในการประชุมลดลง และแสดงถึงความรู้สึกเหนื่อยหลังจากการประชุมมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ปิดกล้อง
เท่านั้นยังไม่พอๆ หลายๆ คนยังรายงานว่ารู้สึกเหมือนตนถูกจ้องมองตลอดเวลาจนบ่อยครั้งก็รู้สึกกดดันกว่าที่ควร หรือมัวแต่สนใจใบหน้าและรูปลักษณ์ของตัวเองมากกว่าการประชุม
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจเลยทีเดียว เพราะมันอาจหมายความว่าการให้พนักงานเลือกได้ว่าจะเปิดกล้องในการพบปะหรือไม่นั้น แท้จริงแล้วอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับสุขภาพจิตของพวกเขาเอง
และสำหรับคนที่ทำงานซึ่งไม่ว่ายังไงก็ควรจะต้องเปิดกล้อง ทางทีมวิจัยก็ระบุไว้ด้วยว่าการปรับมุมกล้องไม่ให้เห็นใบหน้าตรงๆ ของเรา เช่นให้หันมุมข้างหรือเฉียงก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่จะช่วยลดความกดดันได้อย่างดีไม่แพ้กัน
ดังนั้นใครที่รู้สึกว่ากำลังมีปัญหากับการประชุมออนไลน์ก็ลองนำไปปรับใช้กันดูได้นะ
ที่มา
psycnet.apa.org/fulltext/2021-77825-003.pdf
www.cnbc.com/2021/09/02/new-study-turning-off-cameras-in-virtual-meetings-boosts-productivity.html
www.independent.co.uk/news/science/zoom-fatigue-productivity-cameras-meeting-b1914323.html