มันเป็นเรื่องที่แม้จะไม่ค่อยดี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทางเทศกาลดนตรีกลางแจ้งของหลายๆ ประเทศนั้นบ่อยครั้งก็มักจะมาพร้อมกับการใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหามากมาย อย่างการทะเลาะวิวาท
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่าปัญหาการใช้ยาเสพติดตามเทศกาลกลางแจ้งนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่มนุษย์ก็ได้ เพราะล่าสุดนี้เอง มหาวิทยาลัยบังกอร์ในเวลส์ ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยการค้นพบที่ว่า
ในปัจจุบันการใช้ยาเสพติดตามงานดนตรีกลางแจ้งได้ทำให้เกิด การปนเปื้อนสารเสพติดในแม่น้ำท้องถิ่นอยู่ และมันก็กำลังส่งผลกระทบโดยตรงกับปลาไหลใกล้สูญพันธุ์บางชนิดเลยด้วย
ปัญหาในครั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ตามเทศกาลกลางแจ้ง ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มที่มึนเมาหรือเสพยา มักจะมีพฤติกรรมปัสสาวะเรี่ยราด โดยเฉพาะตามแหล่งน้ำ
ซึ่งมันทำให้สารเสพติดอย่างยาอีหรือโคเคนรั่วไหลลงไปตามแม่น้ำ ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ
โดยเฉพาะปลาใกล้สูญพันธุ์อย่าง “ปลาไหลยุโรป” ซึ่งหากได้รับโคเคนเข้าไปจะทำให้เกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อ และขัดขวางวงจรชีวิตสำคัญๆ เช่นการผสมพันธุ์ได้
อ้างอิงจากรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research ในช่วงปี 2019 มหาวิทยาลัยบังกอร์ได้ทำการตรวจสอบ แม่น้ำไวท์เลคในซัมเมอร์เซ็ท ประเทศอังกฤษหลังงานดนตรี Glastonbury Festival และพบว่า
งานดนตรีที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำให้ปริมาณสารเสพติดในแม่น้ำมีความเข้มข้นขึ้นอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาอีซึ่งถูกพบมากถึง “ระดับที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม” ได้เลย
นี่นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเพราะอย่างที่เราทราบกันว่าต่อให้ผู้จัดงานดนตรีมีการจัดสุขาที่ดีแค่ไหน สุดท้ายแล้วเราก็จะมีคนบางกลุ่มอยู่ที่เลือกจะปัสสาวะลงแหล่งน้ำในเวลามึนเมา
และด้วยความที่การจะให้มนุษย์เลิกจัดงานดนตรีไปโดยสมบูรณ์เลยก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีนักแถมคงไม่มีใครอยากทำ
ทางนักวิจัยจึงกังวลเป็นอย่างมากว่าหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ในอนาคตงานดนตรี จะกลายเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยทำร้ายระบบนิเวศที่ร้ายแรงและแก้ไขได้ลำบากที่สุดอีกชิ้นหนึ่งเลย
ที่มา iflscience และ sciencedirect