ว่ากันด้วยเรื่องของการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการสั่งการลงมาจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมือปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมาแบบเป๊ะๆ ไม่ค่อยมีการรับฟังข้อมูลหรือลงพื้นที่จริงเพื่อให้การแก้ไขนั้นตรงจุดอย่างลงตัวและบรรลุผล
ยกตัวอย่างเช่นการได้รับคำสั่งปฏิบัติให้แก้ไขปัญหาจากคนมีตำแหน่งระดับสูง จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาที่ต้องมานั่งคิดนั่งเขียนนโยบายในห้องทำงานของตน ที่ประชาชนมักจะคอยตำหนิว่าเอาแต่นั่งในห้องทำงาน ไม่เคยมาเจอหรือสัมผัสชีวิตของคนทำมาหากินจริงๆ
และเรื่องของนายหวังหลิน รองผู้อำนวยการสำนักแรงงานมัพันธ์ กรมสวัสดิการแห่งกรุงปักกิ่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวอย่างให้กับเจ้าหน้าที่รัฐจนโด่งดังได้ใจประชาชนไปเมื่อไม่นานมานี้
นั่นก็เป็นเพราะว่าเขาได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิตแรงงานของชาวบ้านด้วยตัวเอง ลองสัมผัสชีวิตการทำงานของไรเดอร์ขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งอาหารตามจุดต่างๆ
โดยนโยบายนี้เป็นคำสั่งจากปักกิ่งที่สั่งมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา โดยระบุให้หน่วยงานระดับกรมและสำนักลงไปสัมผัสกับชีวิตจริงในสังคมที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงปัญหาและข้อเสียต่างๆ รวมไปถึงความทุกข์และความเสี่ยงของผู้ใช้แรงงาน โดยเจาะจงลงไปที่กลุ่มไรเดอร์ขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการของสังคม
อย่างไรก็ตามสวัสดิการและสวัสดิภาพของแรงงกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง รวมไปถึงยังถูกเอาเปรียบจากบริษัทต้นสังกัดหรือมักจะเรียกพวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์
รองผู้อำนวยการหวังหลินจึงอาสาเป็นตัวแทนของสำนักมาสัมผัสชีวิตของไรเดอร์ว่าจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะต้องเจอกับอะไรบ้างในแต่ละวัน และรายได้นั้นจะมากมายขนาดไหน? ด้วยการเริ่มต้นฝึกงานร่วมกับไรเดอร์ตัวจริงเป็นเวลา 1 วัน ก่อนที่จะต้องออกมาลุยเดี่ยวในวันถัดไป
โดยในวันแรกของท่านรองนั้นไม่ได้เรียบง่ายเสียทีเดียว เพราะเขาดันไปส่งผิดอาคารบ้าง หาร้านไม่เจอบ้าง โทรติดต่อลูกค้าไม่ได้ พบกับการจราจรที่แออัดติดขัดไปส่งช้าทำให้โดนปรับเงิน
นอกจากนี้ยังมีสารพัดปัญหาอีกมากมายที่จะต้องเจอในแต่ละวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่บรรดาเหล่าไรเดอร์หาเช้ากินค่ำต้องเจอทุกวัน
ถัดมาในวันที่สอง ท่านรองต้องมาลุยเดี่ยวแบบไม่มีพี่เลี้ยง อาศัยประสบการณ์ในวันแรกมาเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง โดยตั้งเป้าจะขอทำรอบให้ได้เงินอย่างน้อย 100 หยวน (580 บาท) ขี่ส่งอาหารแบบนอนสต็อป 12 ชั่วโมงเต็ม
ทว่ามันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังต้องการเนื่องจากเวลาทั้งหมด 12 ชั่วโมงนั้น เขากลับรับส่งอาหารได้เพียงแค่ 5 ออเดอร์เท่านั้น ได้เงินมาแบบไม่คุ้มเหนื่อยอยู่ที่ 41 หยวน (197 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปักกิ่ง
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือเจอการจราจรติดขัดช่วงค่ำ ทำให้การวิ่งรถไปส่งอาหารนั้นล่าช้าว่าเวลานัดหมาย โดนหักเงินสูงถึง 60% จนได้ค่าจ้างเพียงแค่ 6.6 หยวน (31 บาท)
ท่านรองเปิดเผยความรู้สึกว่างานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนถึงขนาดที่ตัวเองรู้สึกท้อเพราะทำงานหนัก 12 ชั่วโมงแต่ทำเงินได้เพียงน้อยนิด ไม่ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เลย
ซึ่งการลงพื้นที่สัมผัสชีวิตไรเดอร์ของนายหวังลินนั้นจะถูกนำไปเขียนรายงานและปรับนโยบายเพื่อนำมาแก้ไข้และบังคับใช้ได้อย่างตรงจุดตามความพอใจของประชาชน
“ยุคปัจจุบันจะต้องมีนโยบายที่ยืดหยุ่น ลงรายละเอียดในแต่ละอาชีพ จะให้เขียนนโยบายรวมทุกอาชีพไม่ได้ เนื่องจากอาชีพเกิดใหม่จะต้องมีการหาข้อมูลให้มากกว่านี้”
“พอแล้วกับการมานั่งเขียนนโยบายจากบนโต๊ะทำงาน สวัสดิภาพแรงงานที่จะได้ผล ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเข้าใจอาชีพนั้นๆ อย่างแท้จริงต่างหาก”
เพื่อให้มีผลครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การเอาเปรียบและความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะลดน้อยลง
ผลที่ตามมาจากการลงไปสัมผัสชีวิตแรงงานด้วยตัวเอง ต่อมาบริษัทรับส่งอาหารเจ้าใหญ่ของจีนถึงกับพากันออกแถลงการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อทบทวนการปรับเงินค่าจ้างกรณีที่ไปส่งช้ากว่ากำหนด รวมไปถึงจะมีการจัดทีมงานตามสำรวจความเป็นอยู่ของไรเดอร์ พร้อมกับพัฒนาแอปให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
การกระทำดังกล่าวของรองหวังหลินทำให้เกิดการ ‘ขยับตัว’ ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ของจีนมากขึ้น รวมไปถึงกระตุ้นให้เหล่ากิจการร้านค้าต่างๆ ไม่เอาเปรียบประชาชนจนมากเกินไป
ทั้งนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐจีนเริ่มเอาจริงเอาจังกับการลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิตจริงของผู้คนแล้ว ทั้งนี้ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าชาวจีนมีรัฐบาลที่คอยดูแลปกป้องจริงๆ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องทำงานแล้วก็สั่งการไปวันๆ