เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะทราบกันว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้นไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ล้วนแต่จะมีการ “วิวัฒนาการ” ตามกาลเวลา มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสัตว์หลายชนิดเมื่อเทียบกับในอดีต
ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็ใช่ว่าการวิวัฒนาการทุกอย่างจะเป็นเรื่องน่ายินดีเสมอไป เพราะล่าสุดนี้เองเราก็เพิ่งจะมีผลงานวิจัยที่ออกมาบอกว่าในปัจจุบันแอฟริการุ่นใหม่ กำลังวิวัฒนาการให้ตัวเองไม่มีงากันมากขึ้น เพื่อชีวิตรอดจากการถูกล่าโดยมนุษย์เช่นกัน
งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยมันเป็นการวิจัยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เมื่อนักชีววิทยาพบวิดีโอช้างเพศเมียในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซาของประเทศโมซัมบิกหลายตัวไม่มีงา
ทั้งๆ ที่ช้างสะวันนาแอฟริกา (Loxodonta africana) ตามปกติจะมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย และช้างไร้งาเช่นนี้ จริงๆ แล้วควรจะถูกพบได้แค่ราวๆ 2% ของประชากรช้างแอฟริกันเท่านั้น
เหตุผลของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือในช่วงปี 1977-2004 ซึ่งที่โมซัมบิกได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยในเวลานั้นช้างในพื้นที่ได้ถูกล่าเพื่อเอางาอย่างหนัก ทำให้ในปัจจุบันประชากรช้างที่รอดชีวิตจนมีโอกาสขยายพันธุ์ได้กลายเป็นช้างที่ไม่มีงา
ทำให้ประชากรช้างพังไร้งาในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซา เพิ่มขึ้นมาเป็นถึง 18.5% ในช่วงต้นสงครามกลางเมือง และ 33% ในเพียง 3 ทศวรรษที่เกิดสงครามเลย
นี่นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการวิวัฒนาการน่าเศร้าของสัตว์ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะแม้การวิวัฒนาการนี้จะช่วยชีวิตช้างพังของแอฟริกาไว้ได้หลายตัว
แต่มันก็ต้องแลกกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของช้างจำนวนมากที่ไม่มีงาช่วยล้มต้นไม้หรืองัดแกะเปลือกไม้เช่นเคย และเราก็อาจจะต้องใช้เวลานับร้อยปีเลยด้วย กว่าที่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะกลับคืนสู่สมดุลตามธรรมชาติอีกครั้ง
ที่มา
https://www.science.org/doi/10.1126/science.abe7389
www.nature.com/articles/d41586-021-02867-y
www.nytimes.com/2021/10/21/science/tuskless-elephants-evolution.html
indianexpress.com/article/technology/science/tuskless-elephants-escape-poachers-but-may-evolve-new-problems-7584621/