เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจ กับเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีการเตรียมตั้ง “คณะกรรมการศึกษาข้อดี-ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า” ขึ้นมา
โดยมีทั้ง ส.ส. และผู้สนับสนุนจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อที่จะศึกษาหาข้อมูลว่าจะมีช่องทางไหนบ้างที่จะทำให้ถูกกฎหมาย แต่ก็ยังมีแรงคัดค้านอยู่หลายช่องทาง รวมไปถึงการตั้งคำถามจากผู้คนทั่วไปถึงความปลอดภัยของมัน
และแม้ว่ามันจะผิดกฎหมายแต่ก็ยังมีให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ใช้งานกันอย่างกลาดเกลื่อน แถมยังมีร้านที่ขายผ่านทางออนไลน์ให้เห็นอยู่ทั่วไป
แล้วทำไมบุหรี่ไฟฟ้าถึงไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ?
นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย แม้ว่าจะมีการยืนยันแล้วว่าอันตรายน้อยกว่า และสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่จริงแล้วก็ตาม
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่ามี 32 ประเทศบนโลกที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น อีก 84 ประเทศยังไม่มีนโยบายหรือแนวทางในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
ส่วนอีก 79 ประเทศมีมาตรการควบคุมที่แตกต่างกัน เช่นสามารถสูบได้ แต่ห้ามการโฆษณา และขายให้เด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น
แต่ในประเทศไทยนั้นระบุชัดเจนว่าเป็นสินค้าต้องห้าม ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ และบุหรี่ไฟฟ้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษร้ายแรงทั้งจำคุกและปรับ
และแม้จะถูกแบนแต่ก็มีการใช้งานกันอย่างเกลื่อนกลาด มีการลักลอบซื้อ-ขายกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเยาวชนแบบไร้การตรวจสอบ ยากต่อการควบคุมเป็นอย่างยิ่ง
นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าทำเราสูญเสียโอกาสอะไรบ้าง?
– สูญเสียโอกาสด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยที่ไม่มีการควบคุม หรือมาตรการทางกฎหมาย
– การคอรัปชัน เพราะมันผิดกฎหมายจึงทำให้เกิดข่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่รู้กฎหมาย
– เสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้นักท่องเที่ยวที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากลัวว่าถ้ามาเที่ยวแล้วจะถูกปรับหรือติดคุก
– เสียโอกาสด้านการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ
นำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่า สรุปแล้วการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้น จะเกิดข้อดีหรือข้อเสียกับประเทศมากกว่ากัน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่น่าคิดและน่าติดตามไม่น้อยเลย…