ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันเชื่อว่าคงมีหลายๆ คนไม่น้อยที่กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศสูง และเริ่มรู้สึกว่าอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างระบบทางเดินหายใจ
แต่เชื่อหรือไม่ว่ามลพิษทางอากาศ แท้จริงแล้วอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของมากกว่าที่เราเคยคิดไว้ก็เป็นได้ เพราะล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยงานวิจัยใหม่ที่บอกว่า
มลพิษทางอากาศนั้น สามารถทำให้ปริมาณสเปิร์มในร่างกายสิ่งมีชีวิตเพศผู้ ซึ่งอาจร่วมถึงมนุษย์ลดลงได้ด้วย
อ้างอิงจากการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives เหตุผลที่มลพิษทางอากาศส่งผลกับการผลิตสเปิร์มได้นั้น มาจากการที่มลภาวะสามารถทำให้สมองของสิ่งมีชีวิตเกิดการอักเสบได้
โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริง ข้อนี้ภายในการทดลองตัดต่อพันธุกรรมหนูให้ขาดโปรตีนซึ่งทำให้การเกิดการอักเสบของสมอง ก่อนที่จะนำหนูดังกล่าวไปทดลองอาศัยในห้องทดลองมลพิษทางอากาศ เปรียบเทียบกับหนูทั่วไป
พวกเขาพบว่า ในขณะที่หนูทั่วไปจะมีการทำงานในสมองส่วนไฮโพทาลามัสซึ่งควบคุมความหิว กระหาย และอารมณ์ทางเพศ จนมี ปริมาณสเปิร์มลดลง หนูที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมมาจะไม่มีอาการที่ว่านี้
ชี้ให้เห็นได้อย่างดีว่า มลพิษทางอากาศได้ทำให้สิ่งมีชีวิตมีปริมาณสเปิร์มน้อยลง ด้วยการทำให้สมองเกิดการอักเสบจริงๆ
นี่ถือว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมากเพราะไม่เพียงแต่การทดลองนี้จะช่วยยืนยันความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่อีกข้อของมลพิษทางอากาศที่ในปัจจุบันดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น
แต่หากกระบวนการเดียวกันนี้เกิดขึ้นในมนุษย์ด้วย การค้นพบดังกล่าวก็อาจจะนำไปสู่ การพัฒนาวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรืออาการอื่นๆ ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาดังกล่าวในหนูได้สำเร็จเลย
ที่มา
ehp.niehs.nih.gov/doi/10.1289/EHP8868
futurism.com/neoscope/air-pollution-sperm-counts
www.euronews.com/next/2021/10/27/brain-inflammation-caused-by-air-pollution-is-reducing-sperm-counts-new-study-finds