ในยุคที่ภาวะอารมณ์ของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาเช่นนี้ โรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล หรือการทำร้ายตัวเองได้กลายเป็นอีกปัญหาสำคัญของสังคมไปแล้ว
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าเพราะอะไรกันคนบางคน ถึงดูจะมีความสุขยากกว่าคนอื่นๆ เหลือเกิน? ทำไมกันคนสองคนที่ต้องเผชิญสถานการณ์ใกล้เคียงกันหลายๆ ครั้งถึงดูจะมีความสุขไม่เท่ากัน? ในวันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน
อ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2005 ปัจจัยความสุขของผู้คนนั้น มีเพียงแค่ราวๆ 10% ของเท่านั้น ที่ถูกกำหนดโดย “สถานการณ์ที่แต่ละคนพบ”
กลับกันเหตุผลราวๆ 40% จะมาจาก “เจตนา” เช่นคนคนนั้นเป็นคนคิดบวกหรือไม่ และมากถึงราวๆ 50% แม้ไม่น่าเชื่อก็ตามแต่มันมาจาก “ยีน”
นักวิทยาศาสตร์ทราบความจริงข้อนี้จากการใช้เทคนิคทางสถิติในการประเมินองค์ประกอบทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการคำนวณข้อมูลและติดตามระดับความสุขของฝาแฝดที่มียีนคล้ายกันแต่เติบโตในสภาพที่ต่างกัน
น่าเสียดายที่ยีนของผู้คนแต่ละคนนั้นถือเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มันจึงบอกได้ยากว่าเราต้องมียีนแบบไหนถึงจะมีความสุข แต่หากมองว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายๆ คนมักมีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง มันก็มองได้ไม่ยากว่ายีนน่าจะมีบทบาทสำคัญในจุดนี้จริงๆ
แต่แม้ปัจจัยความสุขของผู้คนจะมีบทบาทไม่เท่ากันก็ตาม แต่นักวิจัยก็ยังพบด้วยว่า ปัจจัยทั้งสามอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันกว่าที่คิด
ยีนมักมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่ช่วยให้ผู้คนเลือกสภาพแวดล้อมของตนเอง อย่างพ่อแม่ที่มีลักษณะ Extroversion (ชอบเข้าสังคม) สูง ก็มักจะมีลูกที่เข้าสังคมเก่งตามไปด้วย
ในขณะที่หากผู้เป็นแม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในขณะตั้งท้องมันก็มีโอกาสสูงที่ยีนของลูกจะเปลี่ยนแปลงไปตามสารเคมี หรือการขาดอาหารของผู้เป็นแม่
และหลายๆ คนก็ดูจะมีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมสูงจนสามารถเปลี่ยนความคิดอย่างมีนัยสำคัญเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้วย
ดังนั้นในขณะที่บางคนอาจจะมีความสุขได้แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายก็ตาม เราก็ควรจะต้องเข้าใจด้วยว่าคนคนอื่นอาจมีความทุกข์แม้ในสถานการณ์ที่เราคิดว่า “ไม่เลวร้ายนัก” เนื่องจากยีนที่แตกต่างกัน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความคิดของเราก็ยังถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากๆ อีกอย่างในการมีความสุขเช่นกัน เราจึงไม่ควรให้กรรมพันธุ์มากำหนดว่าเราเป็นใคร
เพราะสิ่งที่เราเลือกจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยอยู่กับใคร หรือใช้ชีวิตอย่างไร ก็ล้วนแต่จะผลต่อทั้งความสุขของเรา และคนรุ่นต่อไปได้ทั้งสิ้น
อ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ที่
sonjalyubomirsky.com/wp-content/themes/sonjalyubomirsky/papers/LSS2005.pdf
link.springer.com/content/pdf/10.1007/s10902-019-00128-4.pdf
www.pnas.org/content/105/44/17046
ที่มา
theconversation.com/why-some-people-find-it-harder-to-be-happy-171692
www.iflscience.com/brain/why-some-people-find-it-harder-to-be-happy/