สำหรับคนที่ติดตามข่าววิทยาศาสตร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจทราบกันมาบ้างว่า “หมีน้ำ” หรือ “Tardigrade” นั้น อึดตายยากขนาดไหน
มันสามารถทนได้ทั้งความร้อนสุดขั้วและความหนาวสุดกู่ คืนชีพจากการถูกแช่แข็ง 30 ปีได้ แถมไม่ตายแม้ถูกนำไปใส่กระสุนยิง
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่า จากรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Acta Astronautica ฉบับล่าสุด หมีน้ำก็อาจมีโอกาสถูกส่งข้ามดวงดาวไปยัง Proxima Centauri (ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด) ในเร็วๆ นี้แล้ว
การส่งหมีน้ำข้ามดาวในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองเพื่อหาผลกระทบของการเดินทางระหว่างดวงดาวอย่างรวดเร็วต่อสิ่งมีชีวิต
โดยในการทดลองนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์หวังที่จะส่งยานอวกาศขนาดจิ๋วน้ำหนักน้อยกว่า 1 กรัม ข้ามดวงดาวด้วยเลเซอร์พลังงานสูง
ซึ่งจะทำให้ยานอวกาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็วราวๆ 1 ใน 5 ของความเร็วแสง (ราวๆ 160 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดกันว่าจะไปถึง Proxima Centauri ซึ่งอยู่ห่างออกไป 4.26 ปีแสงในไม่ถึง 25 ปี
การทดลองที่ใช้เวลานานเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมทำให้นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องใช้สัตว์ขนาดเล็กที่ทนทาน และสามารถเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งได้ โดยในกรณีนี้สัตว์ที่พวกเขาสนใจ ก็คือ หมีน้ำ และหนอน C. elegans
ซึ่งทั้งคู่ ล้วนแต่พิสูจน์ตัวเองว่าอยู่บนอวกาศได้ผ่านการทดลองบน ISS มาแล้ว
น่าเสียดายที่งานวิจัยนี้ ในปัจจุบันดูจะยังมีข้อกังขาอยู่ นั่นเพราะยังมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนที่กังวลการส่งสิ่งมีชีวิตไปดาวดวงอื่นเช่นนี้ จะทำให้ดาวดังกล่าวปนเปื้อนได้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักว่าจะเริ่มการวิจัยได้จริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าจับตามองไม่ใช่น้อยเลย เพราะไม่แน่เหมือนกันว่าในอีกไม่ถึงศตวรรษข้างหน้า หมีน้ำ ก็อาจจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนดาวฤกษ์เพื่อนบ้านของเราเลยก็ได้
ที่มา
www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0094576521005518?via%3Dihub
www.scientificamerican.com/article/astronomy-at-the-speed-of-light/
www.iflscience.com/space/tardigrades-could-be-sent-across-the-stars-to-study-effects-of-interstellar-travel/