เคยได้ยินเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดาไหม? นี่คือหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศรวันดา เมื่อปี 1994 และได้ชื่อว่าเป็นการเข่นฆ่ากันเองจากความต่างของเผ่าพันธุ์ ที่โหดร้ายสุดๆ ครั้งหนึ่งของโลกเลย
(อ่านเรื่องราวนี้ได้ที่: “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา” เหตุการณ์ประชาชนเข่นฆ่ากันเองสุดโหด ที่โลกหลงลืม)
นั่นเพราะล่าสุดนี้เอง ภายในวารสาร Epigenomics ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดาและมหาวิทยาลัยรวันดา ก็เพิ่งจะออกมาประกาศการค้นพบใหม่ชวนสลดที่ว่า
ร่องรอยของความบอบช้ำทางจิตใจจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดาในอดีตนั้น มันรุนแรงจนเหลือตกค้างอยู่ในจีโนมผู้คน และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปเลย
โดยในการตรวจสอบจีโนมของสตรีชาว “ทุตซี” (ชนเผ่าที่โดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดา) ซึ่งตั้งครรภ์ในช่วงที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น และลูกหลานของเธอ
ทีมวิจัยได้พบว่า DNA ของสตรีทุตซีหลายราย ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลายอย่างในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิต เช่น PTSD และภาวะซึมเศร้า
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของวิถีชีวิต สิ่งที่เธอต้องพบเจอ และสภาพแวดล้อม ที่ในเวลานั้นเต็มไปด้วยความตาย ความอดอยาก และความรุนแรงทางเพศ
ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กับเธอเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อเด็กในท้องของเธอด้วย ซึ่งทำให้เด็กๆ ที่อาจไม่ได้พบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง หลายคนมี DNA เสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตไปด้วย
“ชาวรวันดาที่อยู่ในการศึกษานี้และในชุมชนโดยรวมต้องการทราบจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา เพราะในรวันดาผู้คนมีอาการ PTSD และความผิดปกติทางจิตอื่นๆ มากมาย
พวกเขาจึงต้องการคำตอบว่าเหตุใดพวกเขาจึงประสบความรู้สึกเหล่านี้” งานวิจัยระบุ
นี่นับว่าถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมันสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้า ซึ่งพบว่า DNA ของเหยื่อจากความอดอยากในเนเธอร์แลนด์ช่วงที่โดนนาซีเข้ายึดครอง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี
ดังนั้นการที่คนต้องพบกับเหตุการณ์เลวร้าย จึงอาจจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงและซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้มากก็เป็นได้
ที่มา journal Epigenomics, iflscience