เชื่อว่าหลายๆ คนอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่าหนึ่งในสถานที่ซึ่งได้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือ “ท้องทะเลของโลก” เพราะที่แห่งนี้ดูดซับความร้อนส่วนเกินกว่า 90% ที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกเข้าไป
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาท้องทะเลได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และจากงานวิจัยชิ้นใหม่ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็ทะลุ “จุดที่ไม่สามารถหวนคืนได้” ตั้งแต่ปี 2014 แล้วด้วย
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงที่น่าเศร้านี้ จากการวิเคราะห์อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาวิเคราะห์ และหาอุณหภูมิมาตรฐานของภาวะความร้อนใต้ทะเลสุดขั้ว
โดยพวกเขาพบว่าตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา กว่าครึ่งของมหาสมุทรได้มีความร้อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว ถึงขนาดที่ว่าในปี 2019 กว่า 57% ของมหาสมุทรก็เข้าสู่ภาวะความร้อนสูงสุดขั้ว และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งที่ในช่วงสุดศตวรรษที่ 19 จะมีเพียง 2% ของพื้นผิวมหาสมุทรเท่านั้น ที่มีความร้อนสูงสุดขั้วเช่นนี้
ด้วยภาวะความร้อนเช่นนี้ ระบบนิเวศขนาดใหญ่ในหลายๆ แห่ง จึงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการหายไปอย่างมาก โดยเฉพาะที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โซมาเลีย อินโดนีเซีย และทะเลนอร์เวย์
“มหาสมุทรมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เพราะมันครอบคลุมพื้นผิวโลกประมาณ 70% และดูดซับความร้อนจากภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 90%
และการศึกษานี้มีประโยชน์มาก เพราะมันช่วยให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่าพื้นที่เหล่านี้ กำลังมีอุณหภูมิพื้นผิวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความร้อนที่ว่าก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปด้วย”
คุณ John Abraham จากมหาวิทยาลัยเซนต์โทมัสหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยระบุ
ที่มา
journals.plos.org/climate/article?id=10.1371/journal.pclm.0000007
www.wired.com/story/extreme-heat-in-the-oceans-is-out-of-control/
www.theguardian.com/environment/2022/feb/01/extreme-heat-oceans-passed-point-of-no-return-high-temperatures-wildlife-seas