ยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นที่รู้จักกันในฐานะของ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก อยู่เหนือ ระดับน้ำทะเล 8,848 เมตร และขึ้นชื่อว่าสูงจนหิมะปกคลุมยอดเขาตลอดทั้งปี
แต่ดูเหมือนว่าแม้แต่ภูเขาลูกนี้ ก็ดูจะหนีไม่พ้นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนัก เพราะล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์ ก็เพิ่งจะออกมารายงานว่า
แม้ธารน้ำแข็งที่ส่วนของยอดเขาเอเวอเรสต์ ในปัจจุบลันก็ได้ละลายหายไปเป็นจำนวนมากแล้ว ถึงขนาดที่ว่าธารน้ำแข็งที่ใช้เวลาก่อตัวมากว่า 2,000 ปี ได้หายไป ในเวลาแค่ไม่ถึง 30 ปีเท่านั้น
โดยนักวิทยาศาสตร์พบความจริงข้อนี้ จากการเดินทางไปสำรวจในพื้นที่ธารน้ำแข็งเซาท์คอล (South Col Glacier) ซึ่งอยู่ในความสูง จากระดับน้ำทะเลราว 7,906 เมตร และพบว่า
น้ำแข็งในพื้นที่ดังกล่าวได้บางลง 54.86 เมตร ตั้งแต่ในช่วงปีครึ่งหลังของยุค 90 เหลือเพียงน้ำแข็งจากยุคโบราณ ที่มีผลวัดอายุอยู่ที่ 2,000 ปี
ซึ่งนั่นหมายความว่า น้ำแข็งที่ต้องให้เวลาถึง 2,000 ปีในการค่อยๆ รวมตัวขึ้นของพื้นที่ดังกล่าว ได้หายไปหมดในเวลาไม่ถึง 30 ปี นับว่าเป็นการละลายหายไปที่เร็วกว่าการสะสมตัวร่วม 80 เท่าเลย
“(การศึกษานี้) ตอบคำถามสำคัญที่ว่า ธารน้ำแข็งที่สูงที่สุดในโลกจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาจากมนุษย์หรือไม่
และคำตอบของมันก็คือใช่อย่างชัดเจน แถมมันเกิดขึ้นเร็วมากตั้งแต่แต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ด้วย”
Paul Mayewski นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเมน หนึ่งในทีมวิจัยระบุ
นี่นับว่าเป็นอีกผลกระทบที่น่าใจหายไม่ใช่น้อยเลยของภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป
ในอนาคตการละลายของน้ำแข็งนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อประชาชนกว่า1 พันล้านคน ที่ต้องพึ่งพาน้ำดื่มจากธารน้ำแข็งของเทือกเขาหิมาลัยได้ไม่ยากเลย
ที่มา
umaine.edu/news/blog/2022/02/03/human-induced-climate-change-impacts-the-highest-reaches-of-the-planet-mount-everest/
www.livescience.com/mt-everest-highest-glacier-rapid-ice-retreat
www.ndtv.com/world-news/mount-everests-highest-glacier-rapidly-losing-ice-study-2750968