ในช่วงเวลาที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายความเป็นความตาย ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้รายงานการเห็นแสงสว่างที่ทำให้ตาพร่า วิญญาณออกจากร่าง หรือเห็นภาพชีวิตทั้งชีวิตของตัวเอง
นี่คือปรากฏการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ “ประสบการณ์ความเฉียดตาย” แนวคิดที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็น “ภาพหลอน” ที่มนุษย์เห็น หลายกับเวลาเราไม่ค่อยมีสติจากการใช้ยา หรือแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตามในงานวิจัยใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยมีชื่อหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมาล้มแนวคิดในอดีตของตัวเองด้วยการบอกว่า
ประสบการณ์เฉียดความตายนั้น อาจไม่ใช่ภาพหลอนอย่างที่เราเคยคิดก็ได้ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยดังนี้
– เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ความเฉียดตายได้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนเหล่านี้กลับบรรยายถึงประสบการณ์ความเฉียดตายในรูปแบบคล้ายกัน และไม่ต่างจากในอดีตนัก
– ประสบการณ์เฉียดความตายที่พวกเขาจำได้ ไม่สอดคล้องกับอาการประสาทหลอน ภาพลวงตา หรือประสบการณ์ที่เกิดจากยาหลอนประสาทใดๆ กลับกันมันมักจะมีรูปแบบตายตัวประกอบด้วย
1. การแยกตัวออกจากร่างกาย 2. การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง 3. การทบทวนชีวิตที่ผ่านมา 4. การไปอยู่ในสถานที่ที่รู้สึกเหมือน “บ้าน” 5. การกลับคืนสู่ชีวิต
– การศึกษาพบว่าระหว่างประสบการณ์ความเฉียดตาย สมองจะมีสัญญาณของกิจกรรมเซลล์ประสาทสั่งการแกมมาและคลื่นไฟฟ้า ที่ปกติแล้วเป็นสัญญาณของการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งตรงกับที่คนส่วนใหญ่อ้างว่าตนรู้สึกมีสติมากขึ้น รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดีขึ้นขณะเผชิญความตาย
นี่นับว่าเป็นอีกงานวิจัยที่น่าจับตามองไม่ใช่น้อย เพราะแม้จนถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็จะยังฟันธงไม่ได้ก็ตามว่าประสบการณ์ความเฉียดตายจริงๆ แล้วมาจากไหนกันแน่ก็ตาม
แต่อย่างน้อยๆ นี่ก็เป็นงานวิจัยที่อาจจะเป็นบันไดไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของผู้คนได้ไม่ยาก
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเรื่องราวของสิ่งที่อยู่หลังความตายเอง ในอนาคตอาจจะสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้จริงๆ ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความเชื่อหรือไสยศาสตร์อีกต่อไปก็เป็นได้
ที่มา
pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35181885/
www.eurekalert.org/news-releases/948999
www.iflscience.com/brain/neardeath-experiences-are-not-hallucinations-says-firstever-study-of-its-kind/