เชื่อว่าเวลาเพื่อนๆ ไปเที่ยวตามชายหาดต่างๆ หลายคนก็คงจะใช้โอกาสนี้ถ่ายรูปกันคนละรูปสองรูปอยู่แล้ว
ดังนั้นเคยคิดกันเล่นๆ ไหมว่ามันจะดีแค่ไหนหากภาพที่เราถ่ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยใหญ่ที่ ช่วยปกป้องหาดเหล่านั้นไว้ไปพร้อมๆ กัน
นั่นเพราะขณะกำลังหาเรื่องน่าสนใจหน้าฟีด เหมียวศรัทธา ก็พบกับเรื่องราวของโครงการที่น่าสนใจมากๆ ชื่อ “CoastSnap” จากเพจ “ขยะมรสุม Monsoon Garbage Thailand” จนต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่มเลย
นั่นเพราะโครงการนี้เปิดให้ประชาชนธรรมดาจากทั่วโลก สามารถส่งรูปหาดผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองไปให้นักวิทยาศาสตร์ใช้มันตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของชายหาด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยอยู่นั่นเอง
CoastSnap เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดของทีมวิจัยแห่งห้องปฏิบัติการวิจัยน้ำแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ เมื่อปี 2017
ซึ่งมีแนวคิด ระบบเรียบง่ายได้ได้ผลอย่างการทำแท่นถ่ายรูปไปตั้งไว้ตามชายหาดต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถวางมือถือ ถ่ายรูปหาดในมุมเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ก่อนที่จะส่งมันไปยังแอปที่นักวิทยาศาสตร์จัดเตรียมไว้ให้
ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้อมูลมหาศาลที่นักวิทยาศาสตร์จะได้รับ
โดยโครงการนี้ ในตอนแรกก็ถูกใช้งานแค่ในพื้นที่รอบๆ ชายหาด 2 แห่งทางเหนือของซิดนีย์เท่านั้น แต่ด้วยผลตอบรับที่ดีมากๆ ในปัจจุบันโครงการนี้ก็ถูกนำไปใช้ ในหาดมีชื่อในประเทศต่างๆ มากถึง 9 ประเทศแล้ว
มันจึงน่าสนใจไม่น้อยเลยว่าโครงการอันนี้ หรือโครงการคล้ายๆ กันจะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่
เพราะโครงการเช่นนี้คงจะถือว่าเป็นประโยชน์ และได้รับความนิยมไม่ใช่น้อยเลย สำหรับประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ และคนรักการถ่ายรูปลงโลกออนไลน์มากแบบไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.facebook.com/MONSOONGARBAGE/photos/a.417541799034343/1156914991763683/
www.coastsnap.com/regional-projects
www.wrl.unsw.edu.au/research/research-project-highlights/coastsnap
www.environment.nsw.gov.au/research-and-publications/your-research/citizen-science/get-involved/coastsnap