เคยได้ยินคำว่า “โครงข่ายไมซีเลียม” (Mycelium network) กันมาก่อนไหม? นี่คือ เครือข่ายเส้นใยรูปร่างคล้ายรากที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเห็ดและเชื้อราอื่นๆ ใช้ในการเกาะรากต้นไม้ และส่งรับส่งสารอาหารกัน
แต่เชื่อหรือไม่ว่าโครงข่ายไมซีเลียมจริงๆ แล้วอาจจะมีบทบาทมากกว่าที่เราเคยคิดก็ได้ นั่นเพราะล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่า
เห็ดและเชื้อรานั้นอาจจะใช้โครงข่ายไมซีเลียม “สื่อสารกัน” ผ่านสัญญาณไฟฟ้าด้วย และมันก็มี “คำศัพท์” สำหรับสื่อสารถึง 50 คำเลยด้วย
โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเรื่องราวสุดน่าทึ่งนี้ในการเก็บข้อมูลการส่งสัญญาณไฟฟ้าในเห็ดทดลอง 4 ชนิด ประกอบด้วย เห็ดเข็มทอง, เห็ดแครง, เห็ดเรืองแสง และเชื้อราในหนอน (ถั่งเช่า)
พวกเขาพบว่าเห็ดเหล่านี้จะมีการปรับความถี่ในการส่งสัญญาณไฟฟ้า ในสถานการณ์ต่างๆ กัน โดยมีรูปแบบความถี่ถึง 50 แบบ และเห็ดแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีการเลือกความถี่ต่างๆ กันราวกับเป็น “ภาษา” เฉพาะของมันด้วย
แน่นอนว่าถึงผลการวิจัยจะออกมาเป็นแบบนี้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าเห็ดจะใช้ความถี่ในการส่งสัญญาณไฟฟ้าสื่อสารกันจริงๆ เสมอไป เพราะความถี่ในการส่งสัญญาณนี้จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพียงความบังเอิญก็ได้
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็หวังเป็นอย่างมากที่จะติดตามศึกษาการทดลองของพวกเขาต่อไป เผื่อว่าจริงๆ แล้วการสื่อสาร อาจจะเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสิ่งมีชีวิตกว่าที่พวกเราคิด
“เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของความถี่สัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ จะมีความสัมพันธ์กับการพูดของมนุษย์หรือไม่ ว่ากันตามตรงมันอาจจะไม่เกี่ยวเลยก็ได้
ในทางกลับกันมันก็มีความคล้ายคลึงหลายอย่างของสิ่งนี้ ต่อการประมวลผลข้อมูลของสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ หลายต่อหลายชนิดเช่นกัน ผมเลยอยากที่จะลองเปรียบเทียบมันดู” Andrew Adamatzky ผู้นำทีมวิจัยกล่าว
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าหากสุดท้ายแล้วเห็ดมีการสื่อสารกันจริงๆ ในอนาคตเราก็อาจจะได้เห็นเครื่องมือ “แปลภาษาเห็ด” แบบเดียวกับที่ตอนนี้เรามีเครื่องแปลภาษาแมวและสุนัขก็ได้นะ
ที่มา
royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsos.211926
www.iflscience.com/plants-and-animals/mushrooms-may-talk-to-each-other-and-have-vocabulary-of-50-words/
www.theguardian.com/science/2022/apr/06/fungi-electrical-impulses-human-language-study
www.bbc.com/thai/international-61057144