ลึกเข้าไปในพื้นที่ 5 แห่งที่ต่างกันของทะเลแปซิฟิก การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำและลม ได้พัดพาเอาขยะจากแทบทุกมุมโลกมารวมกันเป็นแพขยะขนาดใหญ่ ซึ่งบางแห่งก็ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย 2 เท่าเลย
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่าอ้างอิงจาก คุณ Rebecca Helm นักชีววิทยาพัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แม้แต่ในดงขยะเช่นนี้ ในปัจจุบันก็ดูจะกลายเป็นระบบนิเวศแบบใหม่ไปแล้ว
และมันก็อาจจะทำให้เราต้องปรับแนวคิดการจัดการขยะในพื้นที่เลยด้วย
อ้างอิงจากรายงาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวลามีความพยายามการกำจัดขยะในเขตแพขยะใหญ่ ผู้เกี่ยวข้องจะพบว่ามีสิ่งมีชีวิตติดมากับแหเก็บขยะเสมอ สะท้อนให้เห็นว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่มากกว่าที่เราเคยคิด
โดยในบรรดาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ก็รวมไปถึง “แมงกะพรุนไฟเรือรบ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และ “มังกรทะเลสีน้ำเงิน” สิ่งมีชีวิตจำพวกทาก ที่กินสัตว์มีพิษอื่นๆ เพื่อขโมยพิษมาใช้เองด้วย
เมื่อพิจารณาจากจำนวนปลาและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแพขยะ นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มสงสัยแล้วว่าการทำความสะอาดพื้นที่ดังกล่าวแบบที่เราเคยทำกันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไป
กลับกันเราควรจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้แพขยะใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยการหยุดมลพิษพลาสติกที่แหล่งกำเนิดมากกว่า
ในขณะที่การค้นพบนี้เองก็นำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่น่าจับตามองอีกข้อด้วย
นั่นคือที่แหล่งทิ้งขยะอีกหลายที่ของโลกเอง ก็อาจจะกลายเป็นระบบนิเวศเฉพาะคล้ายเกาะกาลาปากอส
ที่สิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการมาเพื่ออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะก็เป็นได้
แต่นี่จะถือว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย มันก็คงเป็นเรื่องที่เรายังคงต้องถกเถียงกันต่อไปอีกสักพักเลย
ที่มา
www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.04.26.489631v1
futurism.com/great-pacific-garbage-patch-ecosystem-climate-pollution
twitter.com/RebeccaRHelm/status/1520109222154760192