ทุกวันที่ 3 พฤษภาคม ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’ ของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ถูกตีตราขึ้นมาเมื่อ 75 ปีที่แล้วครับ
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ถูกร่างขึ้นหลังจากที่พวกเขาแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนถูกตีตราขึ้นในปี 1947 ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของญี่ปุ่นจากระบบแสนยนิยมและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดระบอบการปกครองแบบรัฐสภา รับประกันสิทธิพื้นฐานให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีข้อที่ระบุว่าญี่ปุ่นจะต้องละเว้นซึ่งสงครามด้วย
นอกจากนี้แล้วยังได้ลดบทบาท จักรพรรดิญี่ปุ่น ให้ทรงเป็น “สัญลักษณ์แห่งรัฐและเอกภาพของประชาชน” จะมีบทบาทเฉพาะในพิธีการเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการปกครอง
ตัวอย่างมาตราที่น่าสนใจในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น จะมีดังนี้ครับ
– มาตรา 1 พระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศญี่ปุ่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนชาวญี่ปุ่น ฐานะดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเห็นพ้องของประชาชนชาวญี่ปุ่นซึ่งดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย
– มาตรา 4 พระจักรพรรดิจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และไม่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเกี่ยวกับการปกครองประเทศ
– มาตรา 9 ประชาชนชาวญี่ปุ่น ปรารถนาอย่างแท้จริงซึ่งสันติภาพระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งความถูกต้องและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และขอละเว้นโดยนิรันดร์ซึ่งสงครามที่ประกาศโดยอำนาจแห่งรัฐและการข่มขู่ด้วยกำลังรบหรือใช้กำลังรบเป็นวิธีการสำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความในวรรคก่อน ห้ามมิให้มีไว้ซึ่งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และกำลังรบอื่นๆ สิทธิในการเข้าร่วมสงครามองประเทศไม่เป็นที่ยอมรับ
– มาตรา 14 ประชาชนทุกคน มีความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย และจะไม่ถูกกีดกันทางความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ด้วยเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา เพศ ฐานะทางสังคมหรือชาติตระกูล ขุนนางหรือสิ่งอื่นใดในระบบบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นที่ยอมรับ
การได้รับการเชิดชูเกียรติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นเกียรติยศไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์ใดๆ การได้รับเกียรติยศ ทั้งที่ได้รับในปัจจุบันหรือที่จะได้รับในอนาคต จะมีผลเฉพาะเพียงชั่วคนเดียวของผู้ที่ได้รับนั้น
ที่มา :
– https://www.cfr.org/japan-constitution/japans-postwar-constitution
– http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/pol/105.htm