ด้วยความที่ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกกำลังกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จึงพยายามอย่างมากที่จะหาวิธีการย่อยสลายพลาสติกที่ดีกว่าที่เคย
ดังนั้นนี่จึงอาจจะถือเป็นข่าวดีของหลายๆ ฝ่ายเลย เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส ได้ออกมาประกาศว่า
พวกเขาประสบความสำเร็จในการสร้างเอนไซม์ตัวใหม่ที่จะย่อยสลายพลาสติกในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงได้แล้ว
โดยเจ้าเอนไซม์ตัวใหม่นี้ มีชื่อว่า FAST-PETase ผลงานที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือของระบบ AI แมชชีนเลิร์นนิง ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถดัดแปลงเอนไซม์ไฮโดรเลส ให้มีความเหมาะสมกับการย่อยสลายพลาสติกมากขึ้น
ถึงขั้นที่ในการทดลองเอนไซม์ดังกล่าวจะสามารถย่อยสลายพลาสติกแบบพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ลงได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ไม่กี่วัน หรือในบางกรณีก็แค่ 24 ชั่วโมง
ทั้งที่ในอดีตกระบวนการเช่นนี้อาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปี หรือหลายรอยปีเลย ในการย่อยสลายตามธรรมชาติ
แถมหลังเอนไซม์ทำหน้าที่ย่อยพลาสติกลงจนเหลือเพียงโมเลกุลพื้นฐานบางส่วน นักวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถนำโมเลกุลเหล่านั้นกลับมาผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อีกด้วย
“มันมีความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดเลยที่เราจะใช้กระบวนการรีไซเคิลใหม่นี้ในวงการอุตสาหกรรมต่างๆ…
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการจัดการขยะโดยตรงแล้ว เอนไซม์นี้ยังเปิดโอกาสให้องค์กรจากทุกภาคส่วนเป็นผู้นำในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ของตนด้วย” คุณ Hal Alper วิศวกรเคมีจากมหาวิทยาลัยเทกซัส ที่ออสตินกล่าว
นี่นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าจับตามองของการต่อสู้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกโลกเลย และหากเราโชคดีสามารถหาทางผลิตเอนไซม์ตัวนี้แบบง่ายๆ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของโลก
ปัญหาการกำจัดพลาสติกก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไปก็เป็นได้
ที่มา
www.nature.com/articles/s41586-022-04599-z
www.forbes.com/sites/davidrvetter/2022/04/28/scientists-use-ai-to-make-an-enzyme-that-eats-plastic-trash-in-hours-video/
www.sciencealert.com/engineers-create-an-enzyme-that-breaks-down-plastic-waste-in-hours-not-decades