ห่างออกไปจากโลกของเราราวๆ 300 ล้านกิโลเมตร ภายในอวกาศอันกว้างใหญ่ยังคงมีดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ชื่อ “101955 Bennu” กำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้โลกขึ้นเรื่อยๆ
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีน้ำหนักอยู่ที่ราว 85.5 ล้านตัน และมีโอกาสราวๆ 1 ใน 2,700 ที่ในช่วงปี 2175-2199 มันจะชนโลก ซึ่งแม้จะน้อยแต่ด้วยขนาดของมันหาก Bennu ชนโลกจริงๆ มันจะสร้างความเสียหายได้มากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิม่าราวๆ 80,000 เท่าเลย
ดังนั้นเพื่อที่จะจัดการกับสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาต่อมนุษย์โลกในอนาคตเช่นนี้ ล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติของจีน จึงได้ออกมานำเสนอวิธีจัดการกับภัยร้ายที่อาจจะมาถึงในอนาคตนี้
โดยพวกเขาได้เสนอว่า เราอาจสามารถใช้จรวดลองมาร์ช 5 (Long March-5) ซึ่งเป็นจรวดขนส่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนจำนวน 23 ลูกยิงขึ้นไปเปลี่ยนวิถีของดาวเคราะห์น้อย Bennu ได้!!
เรื่องราวที่เหมือนกับหลุดมาจากหนังไซไฟนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่มีกำหนดการจะได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Icarus ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2021
ในงานวิจัยนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยคุณ Mingtao Li แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติ ได้พยายามคำนวณหาแรงกระแทกทางจลนศาสตร์ที่จะสามารถเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่อย่าง Bennu ทั้งดวงได้
โดยพวกเขาพบว่าการใช้ระเบิดนิวเคลียร์แบบในหนังเรื่อง “Armageddon” (1998) นั้นแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอย่างที่คิดเพราะแรงระเบิดอาจทำให้ดาวเคราะห์น้อยแตกเป็นชิ้นๆ และทำให้ชิ้นส่วนที่อาจชนโลกได้มีจำนวนมากขึ้นไปอีก
ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปให้ความสนใจแผนการในอดีตอีกแผนของนาซาอย่างโครงการ “HAMMER” ที่หวังจะยิงยานอวกาศขนาดใหญ่ไปใส่ดาวเคราะห์น้อยเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของมันมากว่า
แต่แทนที่จะใช้ยานจากโครงการ HAMMER ซึ่งอาจต้องยิงขึ้นไปถึง 34-35 ครั้ง ทีมของคุณ Mingtao Li พบว่าจรวดลองมาร์ช 5 ของจีนอาจจะทำหน้าที่ในจุดนี้ได้ดีกว่า
นั่นเพราะไม่เพียงแต่ที่เรามีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่มันยังมีน้ำหนักมากถึงราวๆ ลำละ 900 ตัน ทำให้เราอาจประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาการผลิตจรวดได้อย่างไม่น่าเชื่อในการทำภารกิจเดียวกัน
แน่นอนว่าด้วยความที่อุกกาบาต Bennu ยังคงอยู่ห่างจากโลกเป็นล้านกิโลเมตร เราจึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกมากเพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าทฤษฎีที่ออกมามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามการที่ได้รู้ว่ามีคนหลายกุล่มเหลือเกินที่พยายามปกป้องโลกจากอุกกาบาตในอนาคตเช่นนี้ มันก็คงทำให้หลายๆ คนรู้สึกใจชื้นกันพอสมควรเลย
ที่มา livescience และ sciencedirect