เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่าสำหรับสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในโลก สัตว์ที่เป็นเพศผู้นั้นมักจะมีอายุสั้นกว่าสัตว์ที่เป็นเพศเมีย และเรื่องราวนี้โดยพื้นฐานแล้วก็เกิดขึ้นแม้แต่กับมนุษย์ด้วย
แต่เคยสงสัยกันไหมว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถทำให้สัตว์ตัวผู้ กลับมามีชีวิตยืนยาวเท่าพอๆ กับตัวเมีย นั่นเพราะจากงานวิจัยใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยโอทาโก
ดูเหมือนว่าเราจะสามารถยืดชีวิตให้กับสัตว์ที่เป็นเพศผู้ได้จริงๆ ด้วย… แม้ว่ามันจะต้องแลกมากับการสูญเสียที่ผู้ชายหลายๆ คนคงจะไม่ต้องการเท่าไหร่ก็ตาม
อ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ในวารสาร “eLife” เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2021 ตั้งแต่ในอดีตมานักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าความอายุสั้นของสัตว์เพศผู้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับตัวโครโมโซม Y
หรือไม่ก็ฮอร์โมน และ DNA ที่ส่งผลเกี่ยวกับลักษณะทางเพศของสัตว์เอง
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ว่าหากเรา “ลดความเป็นเพศผู้” ของสัตว์ต่างๆ ลง (ว่าง่ายๆ ก็จับไปตอนนั่นล่ะ) มันอาจจะช่วยทำให้สัตว์เหล่านั้นอายุยืนยาวขึ้นได้ ซึ่งว่ากันตามตรงเป็นแนวคิดที่เหล่าผู้เลี้ยงสัตว์หลายกลุ่มเชื่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว
เพื่อที่จะพิสูจน์แนวคิดและความเชื่อนี้อย่างเป็นทางการเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทดลองตรวจสอบอายุของแกะเลี้ยงที่ถูกตอนกับไม่ถูกตอนแบบละเอียดถึงในระดับดีเอ็นเอดู
โดยพวกเขาพบว่าแกะเลี้ยงที่ถูกตอนนั้นไม่เพียงแต่จะมีการเกิด ตำหนิในดีเอ็นเอจากกระบวนการที่เรียกว่า “ดีเอ็นเอเมทิเลชั่น” (DNA Methylation) ช้ากว่าแกะเลี้ยงที่ไม่ถูกตอนเท่านั้น
แต่โดยรวมพวกมันยังมีฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง และลักษณะของ DNA เองก็มีความคล้ายคลึงกับของแกะตัวเมียมากขึ้นด้วย
และที่สำหรับคือนอกจากในแกะแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่าในกรณีที่หนูทดลองไม่มีตัวรับฮอร์โมนเพศชายแม้เพียงในอวัยวะบางแห่ง พวกมันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของอายุ DNA ที่ต่างออกไปจากปกติด้วย
แน่นอนว่าแม้ผลการวิจัยจะออกมาแบบนี้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นเดียวกับในสัตว์แต่อย่างไร เพราะการจะยืนยันได้ว่าการตอนจะมีผลกระทบทางอายุกับมนุษย์จริงๆ หรือไม่นั้น ยังคงต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ อีกมาก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรารู้จากงานวิจัยนี้คือแนวคิดที่ว่าการตอนสัตว์ทำให้พวกมันมีอายุยืนขึ้นนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นความเชื่อที่มีมูลกว่าที่คิด
และการค้นพบนี้ก็อาจจะนำเราไปสู่การทำความเข้าใจผลของฮอร์โมนเพศชายที่มีกับความชราต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดีเลย
ที่มา iflscience และ elifesciences